18.10.17

Schritt 18: ก้าวแรกในรั้วมหาลัย... ชีวิตใน Studienkolleg (ตอนที่ 3)

กลับมาต่อกับภาคจบกันดีกว่าครับ หลังจากหายไปเกิน 2 เดือน เพราะช่วงนี้ไม่ได้ว่างๆอยู่บ้านเฉยๆ มีงานทำบ้าง ออกไปเที่ยวบ้าง เพราะมันช่วงปิดเทอมอยู่ บวกกับการเตรียมตัว ย้ายเมือง ย้ายบ้าน ย้ายมหาลัย หลายสิ่งหลายอย่าง ที่ต้องปรับตัว เอาจริงๆ แรงในการเขียนเริ่มลดลงเรื่อยๆแล้วหละ 555 ต้องขอโทษทุกคนจริงๆ T T

ขอติ๊ต่าง ว่าทุกคนได้อ่าน 2 ตอนแรกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แล้วก็ได้สอบย่อยผ่านเป็นที่เรียบร้อย ก็ถึงเวลาต้องสอบจบ หรือเรียกว่า Feststellungsprüfung (FSP, FP) ฟังชื่อก็ดูน่ากลัวแล้ว ตอนสอบก็รู้สึกน่ากลัวยิ่งกว่า เพราะรู้สึกในใจว่า ไม่ว่าจะเตรียมตัวมาเท่าไหร่ ทำไมเราไม่พร้อมสักที จำอะไรไม่ค่อยได้สักที ตอนทำก็ลนมาก อาจเป็นเพราะยังใช้วิธีการเรียนที่ไม่เหมาะกับตัวเองเท่าไหร่  เรียนจบวันสุดท้าย คือวันศุกร์ วันเสาร์ก็มีสอบเยอรมันเลย แล้วก็วันจันทร์จะได้สอบเลข วันอังคารก็ให้เลือกระหว่าง Informatik หรือ ฟิสิกส์ หรือ เคมี เรียกได้ว่า ไม่มีเวลาหายใจกันเลย

FP Deutsch: แบ่งเป็น 4 พาร์ทเหมือนเดิม ใช้เวลาสอบร่วมๆ 4 ชั่วโมงครึ่ง (รวมพักเป็นช่วงๆ)

- พาร์ทแรก คือ การเขียน ให้เขียนบทความเหมือนกับสอบย่อยเลย 70 นาที ประมาณ 250 คำ
- พาร์ทที่สอง คือ การฟัง เหมือนกับสอบย่อยเหมือนกัน อ่านโจทย์ เตรียมพร้อมก่อน 10 นาที จากนั้น อ่านรอบแรก ตามด้วยการพักเตรียมตัวอีก 10 นาที อ่านรอบสอง แล้วให้เวลาตอบคำถามอีก 40 นาที ซึ่งการอ่านทั้งสองรอบ สามารถจดข้อมูลได้เรื่อยๆ (เห็นว่าบางที่ บังคับให้จับปากกาได้เฉพาะการอ่านรอบที่สอง แบบนี้คงยากไปอีก เนอะๆ) ทริกก็แล้วแต่ละคนเลย ตอน 10 นาที บ้างก็หาศัพท์ บ้างก็เตรียมกระดาษจด บ้างก็อ่านทำความเข้าใจ บ้างก็เขียนคำตอบลงในกระดาษคำตอบเลย ขึ้นอยู่กับความถนัดล้วนๆ
- พาร์ทที่สาม คือ การอ่านและไวยากรณ์ อันนี้รวมกัน ให้เวลา 90 นาที ความยากของศัพท์ในบทความ ก็จะเป็นอีกเลเวลเลย โจทย์ก็จะมีรูปแบบต่างไปจากพาร์ทอ่าน ได้ยินยังไง ก็แทบจะลอกคำตอบไปเลยก็ได้ แต่สำหรับการอ่าน มันไม่สามารถลอกคำตอบไปได้ตรงๆ ส่วนไวยากรณ์ก็จะเป็นการนำประโยคจากในบทความมาถาม ให้เราเขียนประโยคใหม่ โดยใช้อีกรูปแบบหนึ่ง เป็นต้น

สรุปแล้ว การสอบ FSP ยากกว่าตรงที่ เป็นการสอบแบบมาราธอน บวกกับพาร์ทการอ่านและไวยากรณ์ ไม่ได้สอบแยกเหมือน Klausur ธรรมดา จะทำพาร์ทนี้ให้ทัน ต้องเร่งสปีดอย่างเดียว ส่วนเนื้อหา ก็จะเรียกได้ว่า เหมือนกับ Klausur ของเทอมที่สองเลย ซึ่งสำหรับตัวเอง การเขียน การฟัง ก็ดูจะดีขึ้นกว่าเดิมนิดนึง ไวยากรณ์ ด้วยความที่เป็นคนค่อนข้างแม่น ก็จะทำได้เร็ว เสร็จใน 15 - 20 นาที ปัญหาหลักก็มาตกอยู่กับการอ่าน ที่ไม่ว่าตอนสอบ Klausur 90 นาที ยังทำไม่ทันเลย ซึ่งก็คาดไว้ไม่ผิด ตอนสอบจริงก็ไม่ทัน ทำให้เราเสียคะแนนไปกับพาร์ทนี้เยอะ ตัวฉุดของแท้เลย (พูดง่ายๆ คือ สอบตกการอ่าน) แต่สุดท้าย เขาก็จะนำเกรดทุกอย่างเฉลี่ยออกมาอยู่ดี

FP Mathe: สอบ 3 ชั่วโมง เป็นมาราธอนเหมือนกัน โดยปีนี้ ได้มีครูออกข้อสอบ 3 คน 3 ข้อใหญ่ๆ (ไม่นับข้อย่อยซึ่งสุดท้าย ก็เต็มหน้ากระดาษทีเดียว) เรื่องที่ออกข้อสอบก็เรียกได้ว่า มีแทบทุกหัวข้อที่ไม่ใช่การพิสูจน์ คือพวกการคำนวณนั่นแหละ จะมีก็อย่างเช่น จำนวนเชิงซ้อน การดิฟ/อินทิเกรต ฟังก์ชันลอการิทึม ฟังก์ชันตรีโกณมิติ อนุกรม การวาดกราฟ เวกเตอร์ เมทริกซ์ เป็นต้น โดยชอบมีรุ่นก่อนๆ หลายคนบอกว่า สอบ FSP มักจะง่ายกว่า Klausur ทั่วไป ขนาดคนเรียกกลางๆ ยังได้เกรด 1,x กันเลย ซึ่งปีเราก็มีเรื่องมหัศจรรย์พันธุ์ลึกอยู่เรื่อยๆ ข้อสอบกลับยากพอๆกันเลย ทำให้แทบจะเตรียมตัวไม่ทัน สูตรง่ายๆ ที่ควรจะจำได้ กลับลืมไปในพริบตา รู้ในทันทีว่า สอบครั้งนี้คะแนนห่วยแน่นอน แล้วผลก็ออกมาเป็นอย่างงั้น ผ่าน 4 มาม่เท่าไหร่ T T (แต่คนที่ได้ 1 ก็ยังมีอยู่ดีนะ 555)

FP Physik: แบ่งเป็น 2 พาร์ท คือ กลศาสตร์ และ ไฟฟ้า โดยปีนี้ครูสอนกลศาสตร์เป็นคนเดียวกัน จึงทำให้รู้แนวข้อสอบเลย ว่าจะออกเรื่องอะไรบ้าง ได้แก่ โมเมนต์ความเฉื่อย การเคลื่อนที่แบบหมุนของระบบที่มีวัตถุติดกัน กฏการอนุรักษ์พลังงาน โดยดูแล้ว เนื้อหาอาจจะไม่ยากมาก แต่ครูเขาก็เก่งนะ ทำโจทย์ผสมกันเยอะๆ เดี๋ยวก็จะดูยากเอง ซึ่งมันยากจริงๆ ส่วนไฟฟ้า ก็มีคำนวณง่ายๆ วงจรไฟฟ้า ไฟฟ้าประจุ แม่เหล็กไฟฟ้า จำสูตรตอบได้แน่นอน

สำหรับตัวเรา อย่างที่บอกไปก่อนหน้า ว่าเราสามารถเลือกได้ว่าจะสอบอะไร ด้วยความที่คิดว่าคะแนน Informatik มันโอเคอยู่แล้ว กลัวว่าถ้าสอบไป จะไปฉุดคะแนนมากกว่า เพราะเราก็ไม่ค่อยมีพื้นฐานจากตอนม.ปลายอยู่ด้วย ถ้าเลือกสอบ ก็คงต้องตะบี้ตะบันอ่านทั้งวันทั้งคืน เราเลยเลือกฟิสิกส์ ซึ่งสงสัยเราจะชะล่าใจไปหน่อย พอไปสอบจริง ก็ลืมสูตรอีกแล้ว (เป็นผลต่อเนื่องมาจากเมื่อวาน) แต่คะแนนรวมก็ไม่ได้แย่เท่าไหร่ ดึงเกรดมาบ้าง แต่ก็อะนะ ทำอะไรไม่ได้ นอกจากต้องทำใจอีกเช่นเคย T T

เมื่อได้คะแนนสอบนี้มา ก็จะนำไปรวมกับคะแนนที่เคยได้ระหว่างภาคเรียน คิดเป็น 50% กับ 50% ส่วน Praktikum และ อีกวิชาที่ไม่ได้เลือกสอบไป ก็จะใช้คะแนนเพียวๆ 100% ที่ได้มาเลย เพราะฉะนั้น การจะเลือกสอบจบอะไร มีผลโดยตรงแน่นอน แต่สำหรับใครที่ว่า ถึงแม้จะสอบ FP แล้ว คะแนนรวมก็ไม่ผ่าน 4,0 ก็จะต้องสอบ Nachklausur เก็บตกอีกรอบ ถ้าไม่ผ่านอีก ก็หมายถึงต้องซ้ำชั้นนั่นเอง

~ ~ และเมื่อเวลาผ่านไป วันที่สำคัญก็มาถึง นั่นคือ วันรับใบจบนั่นเอง รอมาหลายสัปดาห์ ในที่สุดก็จะได้รู้เกรดตัวเองสักที แต่ที่จริงแล้วก่อนพิธีรับใบจบ เราสามารถขอดูข้อสอบ FP ที่เราทำไปได้ เราก็สามารถคิดเกรดตัวเองได้แล้วหละ ว่าต่ละวิชาจะได้เท่าไหร่ ~ ~

ซึ่งเราก็ได้ประมวลภาพมาไว้เรียบร้อยแล้ว ในงานก็มีกิจกรรมร้องเพลง เล่นดนตรี คำกล่าวจาก Kollegsprecher(in) หรือคล้ายๆ ประธานนักเรียน แจกของรางวัล สำหรับคนเรียนดี ซึ่งก็ไม่ใช่แนวทางเราสักเท่าไหร่ ไม่ค่อยมีอารมณ์ร่วมมากมาย ในใจคือ อยากได้ใบจบ แล้วก็อยากกลับบ้านไวๆ เพราวันที่ได้ใบจบนั้น มันใกล้ Deadline การรับสมัครมหาลัยเหลือเกิน


เพิ่มเติมนิดหน่อย คือ ที่จริงแล้ว ระหว่างเทอม ก็จะมีกิจกรรมออกนอกสถานที่ คล้ายๆทัศนศึกษานั่นแหละ แบบเช้าไปเย็นกลับ แต่ละห้อง ก็จะได้ไปที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่า ครูประจำชั้นจะจัดกิจกรรมให้เราไปที่ไหน ครูบางคนชอบเดินป่าเขา ครูบางคนชอบชมเมือง หรือมีกิจกรรมอะไร ก็ขึ้นอยู่กับดวงจริงๆ ว่าได้เรียนห้องไหน รับรองว่า ไม่มีทางที่จะหาเพื่อนไม่ได้แน่นอน! ซึ่งเราก็ได้ไปในเหมืองแร่ซักอย่าง เขาบอกว่าข้างในเหมืองนั่น อากาศจะบริสุทธิ์มาก เพราะภายในจะถูกกรองฝุ่นไปได้หมด(โดยธรรมชาตินะ) แถมมีอุณหภูมิคงที่ตลอดทั้งปี คือประมาณ  องศา แต่ด้วยความที่ภาษาเยอรมัน ยังต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ทำให้ฟังผู้บรรยาออกบ้าง ไม่ออกบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา

เอาหละ สุดท้ายนี้ ก็ขอขอบคุณทุกคนที่ติดตามนะครับ หวังว่าจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ไม่มากก็น้อย ว่าเมืองที่สามารถเติบโตเป็นมหาอำนาจได้อย่างรวดเร็ว หลังจากการแพ้สงครามโลก เขาให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างไร โดยเฉพาะเด็กต่างชาติ ทั้งที่เขาก็สามารถทุ่มทุนเฉพาะเด็กประเทศเขาเองก็ได้ แต่กลับต้องการวางพื้นฐาน เพื่อให้พวกเราเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศเขาต่อไปเหมือนกัน
ส่วนใครที่จะมาเรียนต่อป.ตรี ที่เยอรมนี ก็ขออวยพรให้โชคดีนะครับ ถ้าขยัน และใจสู้ มาถึงจุดๆ นี้แล้ว ต้องทำได้ทุกคนแน่นอน ขอฝากไว้แค่นี้ก่อนนะครับ แล้วช่วงนี้ก็เปิดเรียนมหาลัยมาสักพักแล้วด้วย (ที่จริงเริ่มเขียนเป็นเดือนแล้วหละ แต่ไม่เสร็จซักที 555) อาจห่างหายไปนานกว่าเมื่อก่อน ความถี่การเขียนคงน้อยลง เพราะมันยุ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจริงๆ แต่ก็ยังมีเรื่องที่ต้องการเขียนอีกเยอะ ไม่หายไปไหนแน่นอน ส่วนถ้ามีคำถามอะไรเกี่ยวกับ STK เขียนไว้ใน comment ได้เลยนะครับ จะตอบกลับให้เร็วที่สุดครับ :)

27.7.17

Schritt 17: ก้าวแรกในรั้วมหาลัย... ชีวิตใน Studienkolleg (ตอนที่ 2)

ถึงเวลาที่รู้สึกเบื่อๆ ว่างๆ เลยอยากจะมาเขียนต่อซักหน่อย คิดไปคิดมาแล้ว อาจจะได้แบ่งออกเป็น 3 ตอนหละเนอะ ไม่อยากจะอัดทุกอย่างไว้แค่ 2 ตอน เดี๋ยวคนอ่านจะตาลายก่อน (หรือไม่ก็ขี้เกียจรออ่านไปเลย ก็เป็นได้)
ถ้าใครยังไม่ได้อ่านตอนแรก ที่ได้แก้ไขไป หรือแม้กระทั่งพลาดตอนแรกไป สามารถกลับไปอ่านย้อนหลังได้ที่นี่

ช่วง WiSe ของที่นี่จะอยู่ประมาณ ต้นเดือนตุลาคม ถึงกลางๆเดือนมกราคม ระหว่างนี้ ใครที่สอบผ่านและได้ไปต่อ ก็อย่างลืมทำเรื่องโอนเงินให้เรียบร้อย ก่อนกำหนดหละ (เพราะตัวเองก็เกือบลืม 555) และ SoSe จะอยู่ประมาณ ต้นเดือนมีนาคม ถึงปลายๆเดือนมิถุนายน สำหรับเราที่เริ่มจาก WiSe ปกติ ก็จะจบเทอม 2 ในช่วง SoSe จากนั้นก็มีสอบ FSP เรียกว่า เวลาไว้หายใจนี่แทบจะไม่มี แต่กว่าจะไปถึงจุดๆนั้น เราอยากจะมาเล่าประสบการณ์ ของการเรียน ในเทอม 2 ก่อนดีกว่าเนอะ ความยากสำหรับที่นี่ ถ้าเทอมแรกไม่ไหวแล้ว เทอมนี้ อาจจะทำให้เลือดตากระเด็นได้ บรรยากาศการเรียนก็ยังเหมือนเดิม คล้ายๆกับที่ไทย มีครูพูดๆๆ หน้าห้อง เราก็นั่งฟัง จดๆๆ ไม่ค่อยมีใครถามอะไรกันมากมาย ไม่ค่อยให้ความรู้สึกโรงเรียนตามหนังฝรั่งแบบนั้นนะ แต่ทุกคนที่นี่ ค่อนข้างจะมี motivation ในการเรียนมาก ตั้งใจกันเกือบทุกคน มีแบบฝึกหัดอะไรก็ทำกันหมด เรียนได้ว่า ช่วยผลักดันตัวเราได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว

และน่าจะลืมบอกไปเมื่อบทที่แล้วด้วย ว่าที่จริง นอกจากจะมีคาบเรียนปกติ ก็ยังมีคาบติววิชาเลข และฟิสิกส์ วิชาละ 1 ครั้งต่ออาทิตย์ ช่วงหลังพักกินข้าว ติวเตอร์ ก็คือเด็กนักเรียนเก่านั่นแหละ แต่ก็อาจจะมีบางห้อง ที่ได้เป็นครูมาสอน แต่นั่นก็จะเป็นคาบแบบฝึกหัดมากกว่า (ถ้าใครสนใจ ก็สามารถไปติดต่อสมัครเป็นติวเตอร์ได้ ได้ค่าจ้างด้วยแหละ 555) โดยคาบติว เราก็สามารถเข้าร่วม หรือไม่เข้าเลยก็ได้ เพราะไม่ได้เป็นคาบบังคับ อย่างฟิสิกส์นี่ไม่มีเช็คชื่อเลย แต่ครูเลขของห้องเราต้องการให้เช็คชื่อ แต่ก็ไม่มีผลอะไรกับคาบเรียนปกติอยู่ดี แต่เอาจริงๆ ติวเตอร์ก็ไม่ใช่จะเก่งพิสดารอะไรมากมายหรอก ส่วนใหญ่ครูเขาก็จะเตรียมแบบฝึกหัดไว้ให้ก่อนหน้า แล้วก็มีส่งเฉลยให้กับติวเตอร์ แล้วเราก็แค่ไปนั่งฟังเค้าพูดๆๆ บางทีเข้าหรือไม่เข้า ก็แทบจะไม่ได้ต่างกันเลยด้วยซ้ำ ติวเตอร์เราบางคน ขนาดมีคำถาม เขายังงงๆเลย 555 สุดท้ายก็ไปถามครู เคลียร์สุด แต่ก็บอกเอาไว้ ถ้าใครว่างๆ ไม่มีอะไรทำ ก็ไปนั่งฟัง เข้าร่วมก็ได้ เพราะอาจจะได้ทริกเล็กๆกลับมา รวมถึงแนวข้อสอบ ประสบการณ์การเรียนในมหาลัย ฟังหลายๆคนอธิบาย อาจทำให้เราได้มุมมองอะไรใหม่ๆก็ได้นะ

14.7.17

Schritt 16: ก้าวแรกในรั้วมหาลัย... ชีวิตใน Studienkolleg (ตอนที่ 1)

ในที่สุด ก็มาถึงช่วงไฮไลต์ ที่อยากจะเล่ามากที่สุดซักที หลังจากที่ได้เริ่มเขียนมาประมาณ 9 เดือนเศษ หวังว่าจะได้ให้ประโยชน์กับใครหลายๆคนไปบ้างเนอะ เอาจริงๆ มันก็มีบางอันเท่านั้นแหละ ที่มีคนอ่านเยอะ บางอันโพสต์ไปเป็นเดือนแล้ว ยังมีคนอ่านรวมแค่ 10 กว่าๆเอง 555 แต่ก็ไม่เป็นไร ความตั้งใจเรา ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงเนอะ
ซึ่งในวันนี้ ก็ตั้งใจจะมาเขียนเรื่องราว เกี่ยวกับการเรียนใน Studienkolleg อย่างที่หลายๆคน อาจทราบกันมาบ้างแล้ว ว่าเราเรียนอยู่ที่ Studienkolleg am KIT ในเมือง Karlsruhe ตอนแรกที่เคยได้ยิน ก็ไม่มีไอเดียในหัวหรอก ว่ามันจะเป็นยังไง ยากง่ายแค่ไหน แล้วก็เป็นความตั้งใจของเราที่จะเขียนบล็อกนี้ด้วย จึงขอโอกาสมาเล่าให้ฟังละกัน
ส่วนใครที่กำลังจะสอบเข้า แล้วหาแนวข้อสอบอยู่ คลิกที่นี่เลย >> Schritt 9: มาลองฝึกทำข้อสอบกันเถอะ!

ผ่านไปหลายสัปดาห์ หลังจากที่ได้ลงทะเบียน และจ่ายเงินเป็นที่เรียบร้อย ก็มาถึงวันแรกที่รอคอย เป็นวันปฐมนิเทศ เขาก็จะเล่าเรื่องกฎของที่นี่ อย่างเช่น เข้าเรียนให้ตรงเวลา ห้ามเล่นมือถือระหว่างเรียน (กฎทั่วๆไป ที่แม้แต่เด็กไทยและเด็กทั่วโลก ก็ทำไม่ได้ทุกคน 555)
กฎที่ดูสำคัญ แต่ก็ไม่ได้เคร่งครัด เช่น การทำเรื่องเกี่ยวกับ Amt เช่นไปต่อวีซ่า ควรนัดนอกเวลาเรียน (ซึ่งที่จริง ถ้ามีนัดเวลาเรียนก็ไม่เป็นไร) มีการเช็คชื่อเข้าเรียน ถ้าขาด 3 ครั้ง ส่งใบเตือน ถ้าได้ใบเตือน 2 ครั้งแล้ว จะถูกเชิญให้ออก (แต่ก็มียกเว้นแบบป่วย แต่ต้องมีใบรับรองแพทย์) ซึ่งเอาจริงๆ ก็มีครูบางคนนะ ที่ไม่เคยเช็คชื่อด้วยซ้ำ
แต่กฎที่สำคัญก็มี เช่น ต้องมาสอบ Klausur ทุกครั้ง ถ้าไม่มาโดยไม่มีเหตุจำเป็น จะถูกปรับตกทันที โดยไม่มีการสอบย้อนหลัง เว้นแต่จะมีใบรับรองแพทย์ ก็อาจมาขอสอบซ่อมได้

รูปตึกเรียน (ซีกซ้ายเป็น STK ซีกขวาเป็นคณะ Informatik)