ถ้าใครยังไม่ได้อ่านตอนแรก ที่ได้แก้ไขไป หรือแม้กระทั่งพลาดตอนแรกไป สามารถกลับไปอ่านย้อนหลังได้ที่นี่
ช่วง WiSe ของที่นี่จะอยู่ประมาณ ต้นเดือนตุลาคม ถึงกลางๆเดือนมกราคม ระหว่างนี้ ใครที่สอบผ่านและได้ไปต่อ ก็อย่างลืมทำเรื่องโอนเงินให้เรียบร้อย ก่อนกำหนดหละ (เพราะตัวเองก็เกือบลืม 555) และ SoSe จะอยู่ประมาณ ต้นเดือนมีนาคม ถึงปลายๆเดือนมิถุนายน สำหรับเราที่เริ่มจาก WiSe ปกติ ก็จะจบเทอม 2 ในช่วง SoSe จากนั้นก็มีสอบ FSP เรียกว่า เวลาไว้หายใจนี่แทบจะไม่มี แต่กว่าจะไปถึงจุดๆนั้น เราอยากจะมาเล่าประสบการณ์ ของการเรียน ในเทอม 2 ก่อนดีกว่าเนอะ ความยากสำหรับที่นี่ ถ้าเทอมแรกไม่ไหวแล้ว เทอมนี้ อาจจะทำให้เลือดตากระเด็นได้ บรรยากาศการเรียนก็ยังเหมือนเดิม คล้ายๆกับที่ไทย มีครูพูดๆๆ หน้าห้อง เราก็นั่งฟัง จดๆๆ ไม่ค่อยมีใครถามอะไรกันมากมาย ไม่ค่อยให้ความรู้สึกโรงเรียนตามหนังฝรั่งแบบนั้นนะ แต่ทุกคนที่นี่ ค่อนข้างจะมี motivation ในการเรียนมาก ตั้งใจกันเกือบทุกคน มีแบบฝึกหัดอะไรก็ทำกันหมด เรียนได้ว่า ช่วยผลักดันตัวเราได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว
และน่าจะลืมบอกไปเมื่อบทที่แล้วด้วย ว่าที่จริง นอกจากจะมีคาบเรียนปกติ ก็ยังมีคาบติววิชาเลข และฟิสิกส์ วิชาละ 1 ครั้งต่ออาทิตย์ ช่วงหลังพักกินข้าว ติวเตอร์ ก็คือเด็กนักเรียนเก่านั่นแหละ แต่ก็อาจจะมีบางห้อง ที่ได้เป็นครูมาสอน แต่นั่นก็จะเป็นคาบแบบฝึกหัดมากกว่า (ถ้าใครสนใจ ก็สามารถไปติดต่อสมัครเป็นติวเตอร์ได้ ได้ค่าจ้างด้วยแหละ 555) โดยคาบติว เราก็สามารถเข้าร่วม หรือไม่เข้าเลยก็ได้ เพราะไม่ได้เป็นคาบบังคับ อย่างฟิสิกส์นี่ไม่มีเช็คชื่อเลย แต่ครูเลขของห้องเราต้องการให้เช็คชื่อ แต่ก็ไม่มีผลอะไรกับคาบเรียนปกติอยู่ดี แต่เอาจริงๆ ติวเตอร์ก็ไม่ใช่จะเก่งพิสดารอะไรมากมายหรอก ส่วนใหญ่ครูเขาก็จะเตรียมแบบฝึกหัดไว้ให้ก่อนหน้า แล้วก็มีส่งเฉลยให้กับติวเตอร์ แล้วเราก็แค่ไปนั่งฟังเค้าพูดๆๆ บางทีเข้าหรือไม่เข้า ก็แทบจะไม่ได้ต่างกันเลยด้วยซ้ำ ติวเตอร์เราบางคน ขนาดมีคำถาม เขายังงงๆเลย 555 สุดท้ายก็ไปถามครู เคลียร์สุด แต่ก็บอกเอาไว้ ถ้าใครว่างๆ ไม่มีอะไรทำ ก็ไปนั่งฟัง เข้าร่วมก็ได้ เพราะอาจจะได้ทริกเล็กๆกลับมา รวมถึงแนวข้อสอบ ประสบการณ์การเรียนในมหาลัย ฟังหลายๆคนอธิบาย อาจทำให้เราได้มุมมองอะไรใหม่ๆก็ได้นะ
การเรียนในเทอม 2 นอกจากความยาก ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันมากมาย วิชาเลข จากมี 4 คาบ ก็เหลือแค่ 3 คาบ นั่นแปลว่า เราจะมีเวลาพักผ่อนในช่วงเช้า เพิ่มขึ้น 1 ชั่วโมงครึ่ง ในทุกๆ สัปดาห์ (ทำให้เราตื่นสายได้ซักนิด เรียกว่าแฮปปี้มาก) วิชาอื่น ก็มีตารางเหมือนเดิม ส่วนการสอบ Klausur เลขก็เหลือจาก 3 เป็น 2 ครั้ง เท่ากับ ฟิสิกส์ รวมถึง เคมี/Informatik ส่วน Deutsch หรือ ภาษาเยอรมัน ก็มีการเรียน การสอบเหมืนเดิม ทุกอย่างใช้เกณฑ์เดิมหมด ฟังดูแล้ว อาจดูเหมือนชิวขึ้นนะ ตอนแรกก็ตั้งใจ และแอบหวังอยู่หน่อยๆ เพราะเทอมแรก ทำคะแนนได้ไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ หวังว่าเทอมนี้จะฟิตกว่าเดิม ทำให้คะแนนดีกว่าเดิม เพราะคะแนนส่วนนี้ ต้องเอาไปใช้รวมกับเกรด FSP เป็นเกรดจบของเรา แต่สุดท้าย ผลลัพธ์มันกลับไม่ค่อยต่างเลยอะ เรียกได้ว่า คงเส้นคงวา 555
อ่อ เกือบลืมเล่าไปเลย ว่ามีวิชา Praktikum (ถ้าจะให้แปล น่าจะเป็นเหมือน วิชาพวกการทดลอง ภาคปฎิบัติ อะไรแบบนี้) เพิ่มเข้ามา แล้วแต่ว่าครูผู้สอน เขาจะจัดตารางยังไง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเหมือนคาบเสริม ช่วงบ่าย ซึ่งในปีนี้ ถ้าเรียนเคมี ก็จะมีการทดลองเคมี อาทิตย์เว้นอาทิตย์ (เพราะเขาสลับกันสอน 2 ห้อง) เสร็จแล้วก็ต้องเขียน Protokoll หรือเหมือนสรุปผลการทดลอง สำหรับเด็ก Informatik รวมถึงตัวเราเอง จะได้ทำเกี่ยวกับการทดลองไฟฟ้า ความต้านทาน วงจรบริดจ์ ซึ่งมันออกแนวฟิสิกส์ซะมากกว่า จากนั้นก็ต้องเขียน Protokoll
ส่งเช่นเดียวกัน
แล้วก็มีการสอบข้อเขียนภาคทฤษฎีด้วย ซึ่งเด็กเคมี ก็น่าจะมีสอบเหมือนกันแหละมั้ง
แต่สำหรับปีที่ผ่านๆมา อาจมีคาบ
Praktikum ที่ต่างกันออกไป เช่น
ปีก่อนๆ จะได้ทำเกี่ยวกับการเขียนเว็บ
HTML ซึ่งครูก็เหมือนจะปล่อยฟรีนะ
แค่ให้เขียนเว็บมาส่ง ไม่ต้องมานั่งเรียน เหมือนหลายๆวิชา
แต่ไอการที่ไม่ต้องมานั่งเรียนนี่สิ ทำให้เราต้องศึกษาด้วยตัวเอง
ใครทำไม่เป็นก็ตายเลยจ้า (ซึ่งแอบคิดนะว่า เราก็แอบโชคดี
เพราะไม่ได้เจอของยากมาก แถมฟิสิกส์ไฟฟ้า ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร
สำหรับเด็กไทยหลายๆคน จริงมั้ย?
ทีนี้เรามาดูกันดีกว่า ว่าเราจจะต้องเจออะไร ในการเรียนเทอมนี้
คณิตศาสตร์:
- Integralrechnung (อินทิเกรต)
- Flächen- und Volumenberechnung (การหาพื้นที่ และ ปริมาตร)
- Reihen (geometrisch, Potenzreihen, ...) (อนุกรม)
- Konvergenzkriterien (การทดสอบการลู่เข้าของอนุกรม)
- euklidischer Vektorraum (ปริภูมิเวกเตอร์แบบยูคลิด)
- Matrizenrechnung (เมตริกซ์)
- lineare Abbildungen (การเปลี่ยนแปลงเชิงเส้น)
ฟิสิกส์:
- Rotationsbewegung (การเคลื่อนที่แบบหมุน)
- Schwerpunkt (จุดศูนย์ถ่วง)
- harmonische Schwingungen (การแกว่งแบบฮาร์โมนิก)
- Planetenbewegung (การเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์)
- elektrisches Feld und elektrisches Potential (สนามไฟฟ้า และ ศักย์ไฟฟ้า)
- Elektromagnetismus (แม่เหล็กไฟฟ้า)
** ชื่อเนื้อหา ทั้งเลขและฟิสิกส์ มันก็คล้ายๆกับที่เราเรียนตอนม.ปลาย แต่เอาจริงๆแล้ว ตอนที่เรียน บางอย่างมันเหมือนค่อนข้างจะคนละเรื่องเลยทีเดียว ทั้งความลึก สไตล์โจทย์ ไม่ค่อยเหมือนกับข้อสอบพวกเข้ามหาลัยที่ไทยเท่าไหร่ **
Informatik:
- Turing-Maschine (เครื่องจักรทัวริง)
- künstlische Intelligenz (ปัญญาประดิษฐ์, AI)
- Verschlüsselungs- und Entschlüsselungsverfahren
(วิธีการเข้ารหัส และ ถอดรหัสข้อมูล)
ช่วงแรกๆ ที่เพิ่งเปิดเทอมใหม่ๆ ครูก็จะเข้าสอนปกติตามหัวข้อข้างบนนี่แหละ แต่เทอมนี้ จะมีอะไรแปลกกว่าเทอมที่แล้วเป็นอย่างมากทีเดียว เพราะทุกคน จะต้องมีการทำ Präsentation หรือพรีเซนต์หน้าชั้นเรียน และคะแนนที่ได้ จะเอามารวมกับเกรดของการสอบอีก 2 ครั้ง โดยเราคิดว่านี่ เป็นบททดสอบที่แทบจะท้าทายที่สุด ตั้งแต่เริ่มมาเรียนที่ STK เลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะต้องฝึกภาษาของตัวเองแล้ว ทั้งๆที่พูดธรรมดาแทบจะยังเอาตัวเองไม่รอด ยังต้องนั่งหาข้อมูลเพื่อพรีเซนต์ ในเรื่องที่เราแทบจะไม่รู้จักมาก่อน (ใครที่พอรู้เรื่องระบบคอมพิวเตอร์ ก็อาจจะง่ายขึ้นมาหน่อยอะนะ) และสิ่งที่เราพรีเซนต์ไป ก็จะใช้เป็นข้อสอบ หัวข้อของใครได้ออกข้อสอบเยอะ ก็เป็นผลดีต่อตัวเอง เรียกได้ว่า เทอมนี้ ครูนั่งฟังพวกเราพูดให้คะแนน แล้วก็ออกข้อสอบอย่างเดียว ปัญหาที่ตามมาก็จะมีมากมาย ไม่ว่าเรื่องที่ เนื่อหาบางคนอ่อนไปบ้าง (ก็มันไม่รู้นี่หว่า ว่าจะต้องพูดมากน้อยแค่ไหน) ใครที่อธิบายยากๆ ก็มักจะตามไม่ทัน ภาษาที่บางคนติดๆขัดๆ ฟังไม่รู้เรื่อง ช่วงเวลาหลังจบพรีเซนต์ ก็มักจะไม่มีใครถามอะไร อาจเป็นเพราะไม่เข้าใจ หรือไม่ได้ฟังเลย 555 เรียกได้ว่า เหมือนต้องกลับไปอ่านเองหมดทุกอย่าง แต่ปัญหามันก็ไม่ได้อยู่ที่เราคนเดียวนั่นแหละ คนอื่นก็ใช่ว่าจะเข้าใจกันหมด (แต่ไหง สุดท้ายมีบางคนกลับได้เกรดดีก็ไม่รู้นะ แอบเศร้า T T)
โดยจะมีหัวข้อให้เลือก มากกว่า 30 หัวข้อ เช่น โปรเซสเซอร์, ระบบปฎิบัติการ, อัลกอริทึม, ภาษาคอมพิวเตอร์(ปกติจะไม่ออกข้อสอบ ถึงขั้นให้เราเขียน code เป็น), แบบจำลอง OSI, โปรโตคอลระดับเน็ตเวิร์ก TCP/IP, ประวัติของอินเทอร์เน็ต และ www, มัลแวร์, ไฟร์วอลล์, การบีบอัดข้อมูล เป็นต้น เรียกได้ว่า แค่เห็นหัวข้อก็แทบน้ำตาไหลเลย ยิ่งไม่เคยเรียนมา แล้วต้องมาอธิบายให้คนอื่นฟังอีก โดยนอกจากเราจะต้องเตรียมตัวทำ Powerpoint เองแล้ว ก็ยังต้องทำเหมือน Handout ไว้แจกเพื่อนๆในห้องอีกด้วย (รายละเอียดการทำ เดี๋ยวถ้าได้เข้าไปเรียน ก็จะรู้เองแหละนะ ตอนนี้ก็ฟังไว้ให้ขนหัวลุกไปก่อน 555) การพรีเซนต์แต่ละครั้ง ก็กินเวลาไปประมาณคาบนึงเลยแหละ (45-60 นาที) ซึ่งถ้ามีเวลาเหลือก่อนจบคาบ ครูก็อาจจะมาเสริมเรื่องที่สำคัญๆ หรืออธิบายให้มันชัดเจนขึ้น
เยอรมัน (Deutsch):
อันนี้ก็เหมือนเทอมที่แล้วเลย ไม่มีอะไรต่างกันมาก ตอนเรียน เอาจริงๆ ก็แทบไม่ค่อยรู้สึก ว่าได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ นอกจากคำศัพท์แปลกๆ เพราะเขาก็ให้เราฝึกทำข้อสอบ รู้จักวิธีตอบให้ได้คะแนน อาจมีบ้างที่พาร์ทเขียน ต้องการ 250 คำ จากแต่ก่อน 200 คำ อย่างที่ได้เคยพูดถึงไปแล้วเมื่อบทที่่แล้ว กลับไปย้อนอ่านได้ ตามลิงค์ที่แปะไว้ให้ด้านบนเลย
เอาที่จริง ครูที่สอนก็มีผลนะ 555 ครูเก่งๆก็มีเยอะ แต่ครูไม่เก่งก็มี (อันนี้ไม่ขอพูดถึงต่อละกัน) ความยาก ง่าย ของครูแต่ละคน ก็แอบจะไม่เท่ากันอีก ครูบางคนมาแบบทฤษฎีเน้นๆ บางคนก็เน้นคำนวณแบบครูไทยที่โรงเรียนส่วนใหญ่ ยังไงก็ขอให้โชคดีละกันนะ เรียนๆไปก็น่าจะรู้สไตล์ของครูแต่ละคนเอง เพราะเรื่องพวกนี้ ถามรุ่นก่อนๆ คนที่มี connection แอบมีข้อสอบรุ่นเก่าๆ มันหาได้ไม่ยากเลย (ทั้งๆที่เขาก็ห้ามถ่ายภาพข้อสอบอะนะ) อิอิ
อย่างไรก็ตาม ตามความรู้สึกเราเอง ครูที่นี่ แต่ละคนก็ค่อนข้างจะใจดีนะ อาจเป็นเพราะเขาเข้าใจ ว่าเรามาจากต่างประเทศด้วย ถ้ามีปัญหาอะไร ก็สามารถปรึกษาได้ แม้แต่เรื่องเรียน และเรื่องส่วนตัว ไม่ว่าจะเขียนเมลล์ คุยตัวๆ เวลาเราพูดผิดบ้าง พูดช้าบ้าง ก็ค่อนข้างจะพยายามทำความเข้าใจ แถมเรายังรู้สึก ว่าครูที่นี่พูดไม่ค่อยเร็ว ส่วนใหญ่เราสามารถจับคำได้เกือบทั้งหมด เทียบกับพนักงานตามร้านขายของไม่ค่อยได้ ถ้าเจอใครพูดรัวๆมา บางทีก็เล่นทำเอายืนอึ้งไปซักพัก และความสุภาพก็เป็นสิ่งสำคัญ อย่างน้อยได้มาอยู่ที่นี่ก่อน ก็อาจช่วยให้เรารู้ ว่าถ้าจะเจอ Professor ในมหาลัยจริงๆ เราควรจะทำตัวยังไง เขียนเมลล์แบบไหน ให้ถูกจริต ก็ได้แต่หวังหละเนอะ ว่าเข้ามหาลัยแล้ว เราจะสามารถปรับตัวกับเขาได้ เพราะต่อไปนี้ เด็กต่างชาติจะเป็นแค่ชนกลุ่มน้อยเสียแล้ว
อยากจะย้ำอีกที ว่า STK แต่ละที่ ย่อมมีหลักสูตร และวิธีจัดการ การสอบแตกต่างกันไปบ้าง ที่เรามาเขียนในครั้งนี้ ก็เป็นเพียงแค่อยากนำเสนอ ว่าเราได้เคยเจอ เคยผ่านอะไรมาบ้าง เอามาเป็นประสบการณ์เล่าสู่กันฟังมากกว่า ตอนหน้าก็อยากจะให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ การสอบจบ FSP และพวกกิจกรรมระหว่างเกือบปี ในช่วงที่เรียน STK แห่งนี้ ไม่รู้จะเล่าได้สนุกแค่ไหน แต่ก็อยากให้ติดตามนะครับ วันนี้ฝากไว้แค่นี้ ถ้าอยากจะรู้เรื่องอะไรเพิ่มระหว่างเรียนที่ตัวเราอาจลืมพูดถึง หรือมีคำถามอะไร ทิ้ง Comment ไว้ได้ด้านล่างเลยครับ ผมตอบแน่นอน :)
No comments:
Post a Comment