18.10.17

Schritt 18: ก้าวแรกในรั้วมหาลัย... ชีวิตใน Studienkolleg (ตอนที่ 3)

กลับมาต่อกับภาคจบกันดีกว่าครับ หลังจากหายไปเกิน 2 เดือน เพราะช่วงนี้ไม่ได้ว่างๆอยู่บ้านเฉยๆ มีงานทำบ้าง ออกไปเที่ยวบ้าง เพราะมันช่วงปิดเทอมอยู่ บวกกับการเตรียมตัว ย้ายเมือง ย้ายบ้าน ย้ายมหาลัย หลายสิ่งหลายอย่าง ที่ต้องปรับตัว เอาจริงๆ แรงในการเขียนเริ่มลดลงเรื่อยๆแล้วหละ 555 ต้องขอโทษทุกคนจริงๆ T T

ขอติ๊ต่าง ว่าทุกคนได้อ่าน 2 ตอนแรกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แล้วก็ได้สอบย่อยผ่านเป็นที่เรียบร้อย ก็ถึงเวลาต้องสอบจบ หรือเรียกว่า Feststellungsprüfung (FSP, FP) ฟังชื่อก็ดูน่ากลัวแล้ว ตอนสอบก็รู้สึกน่ากลัวยิ่งกว่า เพราะรู้สึกในใจว่า ไม่ว่าจะเตรียมตัวมาเท่าไหร่ ทำไมเราไม่พร้อมสักที จำอะไรไม่ค่อยได้สักที ตอนทำก็ลนมาก อาจเป็นเพราะยังใช้วิธีการเรียนที่ไม่เหมาะกับตัวเองเท่าไหร่  เรียนจบวันสุดท้าย คือวันศุกร์ วันเสาร์ก็มีสอบเยอรมันเลย แล้วก็วันจันทร์จะได้สอบเลข วันอังคารก็ให้เลือกระหว่าง Informatik หรือ ฟิสิกส์ หรือ เคมี เรียกได้ว่า ไม่มีเวลาหายใจกันเลย

FP Deutsch: แบ่งเป็น 4 พาร์ทเหมือนเดิม ใช้เวลาสอบร่วมๆ 4 ชั่วโมงครึ่ง (รวมพักเป็นช่วงๆ)

- พาร์ทแรก คือ การเขียน ให้เขียนบทความเหมือนกับสอบย่อยเลย 70 นาที ประมาณ 250 คำ
- พาร์ทที่สอง คือ การฟัง เหมือนกับสอบย่อยเหมือนกัน อ่านโจทย์ เตรียมพร้อมก่อน 10 นาที จากนั้น อ่านรอบแรก ตามด้วยการพักเตรียมตัวอีก 10 นาที อ่านรอบสอง แล้วให้เวลาตอบคำถามอีก 40 นาที ซึ่งการอ่านทั้งสองรอบ สามารถจดข้อมูลได้เรื่อยๆ (เห็นว่าบางที่ บังคับให้จับปากกาได้เฉพาะการอ่านรอบที่สอง แบบนี้คงยากไปอีก เนอะๆ) ทริกก็แล้วแต่ละคนเลย ตอน 10 นาที บ้างก็หาศัพท์ บ้างก็เตรียมกระดาษจด บ้างก็อ่านทำความเข้าใจ บ้างก็เขียนคำตอบลงในกระดาษคำตอบเลย ขึ้นอยู่กับความถนัดล้วนๆ
- พาร์ทที่สาม คือ การอ่านและไวยากรณ์ อันนี้รวมกัน ให้เวลา 90 นาที ความยากของศัพท์ในบทความ ก็จะเป็นอีกเลเวลเลย โจทย์ก็จะมีรูปแบบต่างไปจากพาร์ทอ่าน ได้ยินยังไง ก็แทบจะลอกคำตอบไปเลยก็ได้ แต่สำหรับการอ่าน มันไม่สามารถลอกคำตอบไปได้ตรงๆ ส่วนไวยากรณ์ก็จะเป็นการนำประโยคจากในบทความมาถาม ให้เราเขียนประโยคใหม่ โดยใช้อีกรูปแบบหนึ่ง เป็นต้น

สรุปแล้ว การสอบ FSP ยากกว่าตรงที่ เป็นการสอบแบบมาราธอน บวกกับพาร์ทการอ่านและไวยากรณ์ ไม่ได้สอบแยกเหมือน Klausur ธรรมดา จะทำพาร์ทนี้ให้ทัน ต้องเร่งสปีดอย่างเดียว ส่วนเนื้อหา ก็จะเรียกได้ว่า เหมือนกับ Klausur ของเทอมที่สองเลย ซึ่งสำหรับตัวเอง การเขียน การฟัง ก็ดูจะดีขึ้นกว่าเดิมนิดนึง ไวยากรณ์ ด้วยความที่เป็นคนค่อนข้างแม่น ก็จะทำได้เร็ว เสร็จใน 15 - 20 นาที ปัญหาหลักก็มาตกอยู่กับการอ่าน ที่ไม่ว่าตอนสอบ Klausur 90 นาที ยังทำไม่ทันเลย ซึ่งก็คาดไว้ไม่ผิด ตอนสอบจริงก็ไม่ทัน ทำให้เราเสียคะแนนไปกับพาร์ทนี้เยอะ ตัวฉุดของแท้เลย (พูดง่ายๆ คือ สอบตกการอ่าน) แต่สุดท้าย เขาก็จะนำเกรดทุกอย่างเฉลี่ยออกมาอยู่ดี

FP Mathe: สอบ 3 ชั่วโมง เป็นมาราธอนเหมือนกัน โดยปีนี้ ได้มีครูออกข้อสอบ 3 คน 3 ข้อใหญ่ๆ (ไม่นับข้อย่อยซึ่งสุดท้าย ก็เต็มหน้ากระดาษทีเดียว) เรื่องที่ออกข้อสอบก็เรียกได้ว่า มีแทบทุกหัวข้อที่ไม่ใช่การพิสูจน์ คือพวกการคำนวณนั่นแหละ จะมีก็อย่างเช่น จำนวนเชิงซ้อน การดิฟ/อินทิเกรต ฟังก์ชันลอการิทึม ฟังก์ชันตรีโกณมิติ อนุกรม การวาดกราฟ เวกเตอร์ เมทริกซ์ เป็นต้น โดยชอบมีรุ่นก่อนๆ หลายคนบอกว่า สอบ FSP มักจะง่ายกว่า Klausur ทั่วไป ขนาดคนเรียกกลางๆ ยังได้เกรด 1,x กันเลย ซึ่งปีเราก็มีเรื่องมหัศจรรย์พันธุ์ลึกอยู่เรื่อยๆ ข้อสอบกลับยากพอๆกันเลย ทำให้แทบจะเตรียมตัวไม่ทัน สูตรง่ายๆ ที่ควรจะจำได้ กลับลืมไปในพริบตา รู้ในทันทีว่า สอบครั้งนี้คะแนนห่วยแน่นอน แล้วผลก็ออกมาเป็นอย่างงั้น ผ่าน 4 มาม่เท่าไหร่ T T (แต่คนที่ได้ 1 ก็ยังมีอยู่ดีนะ 555)

FP Physik: แบ่งเป็น 2 พาร์ท คือ กลศาสตร์ และ ไฟฟ้า โดยปีนี้ครูสอนกลศาสตร์เป็นคนเดียวกัน จึงทำให้รู้แนวข้อสอบเลย ว่าจะออกเรื่องอะไรบ้าง ได้แก่ โมเมนต์ความเฉื่อย การเคลื่อนที่แบบหมุนของระบบที่มีวัตถุติดกัน กฏการอนุรักษ์พลังงาน โดยดูแล้ว เนื้อหาอาจจะไม่ยากมาก แต่ครูเขาก็เก่งนะ ทำโจทย์ผสมกันเยอะๆ เดี๋ยวก็จะดูยากเอง ซึ่งมันยากจริงๆ ส่วนไฟฟ้า ก็มีคำนวณง่ายๆ วงจรไฟฟ้า ไฟฟ้าประจุ แม่เหล็กไฟฟ้า จำสูตรตอบได้แน่นอน

สำหรับตัวเรา อย่างที่บอกไปก่อนหน้า ว่าเราสามารถเลือกได้ว่าจะสอบอะไร ด้วยความที่คิดว่าคะแนน Informatik มันโอเคอยู่แล้ว กลัวว่าถ้าสอบไป จะไปฉุดคะแนนมากกว่า เพราะเราก็ไม่ค่อยมีพื้นฐานจากตอนม.ปลายอยู่ด้วย ถ้าเลือกสอบ ก็คงต้องตะบี้ตะบันอ่านทั้งวันทั้งคืน เราเลยเลือกฟิสิกส์ ซึ่งสงสัยเราจะชะล่าใจไปหน่อย พอไปสอบจริง ก็ลืมสูตรอีกแล้ว (เป็นผลต่อเนื่องมาจากเมื่อวาน) แต่คะแนนรวมก็ไม่ได้แย่เท่าไหร่ ดึงเกรดมาบ้าง แต่ก็อะนะ ทำอะไรไม่ได้ นอกจากต้องทำใจอีกเช่นเคย T T

เมื่อได้คะแนนสอบนี้มา ก็จะนำไปรวมกับคะแนนที่เคยได้ระหว่างภาคเรียน คิดเป็น 50% กับ 50% ส่วน Praktikum และ อีกวิชาที่ไม่ได้เลือกสอบไป ก็จะใช้คะแนนเพียวๆ 100% ที่ได้มาเลย เพราะฉะนั้น การจะเลือกสอบจบอะไร มีผลโดยตรงแน่นอน แต่สำหรับใครที่ว่า ถึงแม้จะสอบ FP แล้ว คะแนนรวมก็ไม่ผ่าน 4,0 ก็จะต้องสอบ Nachklausur เก็บตกอีกรอบ ถ้าไม่ผ่านอีก ก็หมายถึงต้องซ้ำชั้นนั่นเอง

~ ~ และเมื่อเวลาผ่านไป วันที่สำคัญก็มาถึง นั่นคือ วันรับใบจบนั่นเอง รอมาหลายสัปดาห์ ในที่สุดก็จะได้รู้เกรดตัวเองสักที แต่ที่จริงแล้วก่อนพิธีรับใบจบ เราสามารถขอดูข้อสอบ FP ที่เราทำไปได้ เราก็สามารถคิดเกรดตัวเองได้แล้วหละ ว่าต่ละวิชาจะได้เท่าไหร่ ~ ~

ซึ่งเราก็ได้ประมวลภาพมาไว้เรียบร้อยแล้ว ในงานก็มีกิจกรรมร้องเพลง เล่นดนตรี คำกล่าวจาก Kollegsprecher(in) หรือคล้ายๆ ประธานนักเรียน แจกของรางวัล สำหรับคนเรียนดี ซึ่งก็ไม่ใช่แนวทางเราสักเท่าไหร่ ไม่ค่อยมีอารมณ์ร่วมมากมาย ในใจคือ อยากได้ใบจบ แล้วก็อยากกลับบ้านไวๆ เพราวันที่ได้ใบจบนั้น มันใกล้ Deadline การรับสมัครมหาลัยเหลือเกิน


เพิ่มเติมนิดหน่อย คือ ที่จริงแล้ว ระหว่างเทอม ก็จะมีกิจกรรมออกนอกสถานที่ คล้ายๆทัศนศึกษานั่นแหละ แบบเช้าไปเย็นกลับ แต่ละห้อง ก็จะได้ไปที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่า ครูประจำชั้นจะจัดกิจกรรมให้เราไปที่ไหน ครูบางคนชอบเดินป่าเขา ครูบางคนชอบชมเมือง หรือมีกิจกรรมอะไร ก็ขึ้นอยู่กับดวงจริงๆ ว่าได้เรียนห้องไหน รับรองว่า ไม่มีทางที่จะหาเพื่อนไม่ได้แน่นอน! ซึ่งเราก็ได้ไปในเหมืองแร่ซักอย่าง เขาบอกว่าข้างในเหมืองนั่น อากาศจะบริสุทธิ์มาก เพราะภายในจะถูกกรองฝุ่นไปได้หมด(โดยธรรมชาตินะ) แถมมีอุณหภูมิคงที่ตลอดทั้งปี คือประมาณ  องศา แต่ด้วยความที่ภาษาเยอรมัน ยังต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ทำให้ฟังผู้บรรยาออกบ้าง ไม่ออกบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา

เอาหละ สุดท้ายนี้ ก็ขอขอบคุณทุกคนที่ติดตามนะครับ หวังว่าจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ไม่มากก็น้อย ว่าเมืองที่สามารถเติบโตเป็นมหาอำนาจได้อย่างรวดเร็ว หลังจากการแพ้สงครามโลก เขาให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างไร โดยเฉพาะเด็กต่างชาติ ทั้งที่เขาก็สามารถทุ่มทุนเฉพาะเด็กประเทศเขาเองก็ได้ แต่กลับต้องการวางพื้นฐาน เพื่อให้พวกเราเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศเขาต่อไปเหมือนกัน
ส่วนใครที่จะมาเรียนต่อป.ตรี ที่เยอรมนี ก็ขออวยพรให้โชคดีนะครับ ถ้าขยัน และใจสู้ มาถึงจุดๆ นี้แล้ว ต้องทำได้ทุกคนแน่นอน ขอฝากไว้แค่นี้ก่อนนะครับ แล้วช่วงนี้ก็เปิดเรียนมหาลัยมาสักพักแล้วด้วย (ที่จริงเริ่มเขียนเป็นเดือนแล้วหละ แต่ไม่เสร็จซักที 555) อาจห่างหายไปนานกว่าเมื่อก่อน ความถี่การเขียนคงน้อยลง เพราะมันยุ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจริงๆ แต่ก็ยังมีเรื่องที่ต้องการเขียนอีกเยอะ ไม่หายไปไหนแน่นอน ส่วนถ้ามีคำถามอะไรเกี่ยวกับ STK เขียนไว้ใน comment ได้เลยนะครับ จะตอบกลับให้เร็วที่สุดครับ :)

27.7.17

Schritt 17: ก้าวแรกในรั้วมหาลัย... ชีวิตใน Studienkolleg (ตอนที่ 2)

ถึงเวลาที่รู้สึกเบื่อๆ ว่างๆ เลยอยากจะมาเขียนต่อซักหน่อย คิดไปคิดมาแล้ว อาจจะได้แบ่งออกเป็น 3 ตอนหละเนอะ ไม่อยากจะอัดทุกอย่างไว้แค่ 2 ตอน เดี๋ยวคนอ่านจะตาลายก่อน (หรือไม่ก็ขี้เกียจรออ่านไปเลย ก็เป็นได้)
ถ้าใครยังไม่ได้อ่านตอนแรก ที่ได้แก้ไขไป หรือแม้กระทั่งพลาดตอนแรกไป สามารถกลับไปอ่านย้อนหลังได้ที่นี่

ช่วง WiSe ของที่นี่จะอยู่ประมาณ ต้นเดือนตุลาคม ถึงกลางๆเดือนมกราคม ระหว่างนี้ ใครที่สอบผ่านและได้ไปต่อ ก็อย่างลืมทำเรื่องโอนเงินให้เรียบร้อย ก่อนกำหนดหละ (เพราะตัวเองก็เกือบลืม 555) และ SoSe จะอยู่ประมาณ ต้นเดือนมีนาคม ถึงปลายๆเดือนมิถุนายน สำหรับเราที่เริ่มจาก WiSe ปกติ ก็จะจบเทอม 2 ในช่วง SoSe จากนั้นก็มีสอบ FSP เรียกว่า เวลาไว้หายใจนี่แทบจะไม่มี แต่กว่าจะไปถึงจุดๆนั้น เราอยากจะมาเล่าประสบการณ์ ของการเรียน ในเทอม 2 ก่อนดีกว่าเนอะ ความยากสำหรับที่นี่ ถ้าเทอมแรกไม่ไหวแล้ว เทอมนี้ อาจจะทำให้เลือดตากระเด็นได้ บรรยากาศการเรียนก็ยังเหมือนเดิม คล้ายๆกับที่ไทย มีครูพูดๆๆ หน้าห้อง เราก็นั่งฟัง จดๆๆ ไม่ค่อยมีใครถามอะไรกันมากมาย ไม่ค่อยให้ความรู้สึกโรงเรียนตามหนังฝรั่งแบบนั้นนะ แต่ทุกคนที่นี่ ค่อนข้างจะมี motivation ในการเรียนมาก ตั้งใจกันเกือบทุกคน มีแบบฝึกหัดอะไรก็ทำกันหมด เรียนได้ว่า ช่วยผลักดันตัวเราได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว

และน่าจะลืมบอกไปเมื่อบทที่แล้วด้วย ว่าที่จริง นอกจากจะมีคาบเรียนปกติ ก็ยังมีคาบติววิชาเลข และฟิสิกส์ วิชาละ 1 ครั้งต่ออาทิตย์ ช่วงหลังพักกินข้าว ติวเตอร์ ก็คือเด็กนักเรียนเก่านั่นแหละ แต่ก็อาจจะมีบางห้อง ที่ได้เป็นครูมาสอน แต่นั่นก็จะเป็นคาบแบบฝึกหัดมากกว่า (ถ้าใครสนใจ ก็สามารถไปติดต่อสมัครเป็นติวเตอร์ได้ ได้ค่าจ้างด้วยแหละ 555) โดยคาบติว เราก็สามารถเข้าร่วม หรือไม่เข้าเลยก็ได้ เพราะไม่ได้เป็นคาบบังคับ อย่างฟิสิกส์นี่ไม่มีเช็คชื่อเลย แต่ครูเลขของห้องเราต้องการให้เช็คชื่อ แต่ก็ไม่มีผลอะไรกับคาบเรียนปกติอยู่ดี แต่เอาจริงๆ ติวเตอร์ก็ไม่ใช่จะเก่งพิสดารอะไรมากมายหรอก ส่วนใหญ่ครูเขาก็จะเตรียมแบบฝึกหัดไว้ให้ก่อนหน้า แล้วก็มีส่งเฉลยให้กับติวเตอร์ แล้วเราก็แค่ไปนั่งฟังเค้าพูดๆๆ บางทีเข้าหรือไม่เข้า ก็แทบจะไม่ได้ต่างกันเลยด้วยซ้ำ ติวเตอร์เราบางคน ขนาดมีคำถาม เขายังงงๆเลย 555 สุดท้ายก็ไปถามครู เคลียร์สุด แต่ก็บอกเอาไว้ ถ้าใครว่างๆ ไม่มีอะไรทำ ก็ไปนั่งฟัง เข้าร่วมก็ได้ เพราะอาจจะได้ทริกเล็กๆกลับมา รวมถึงแนวข้อสอบ ประสบการณ์การเรียนในมหาลัย ฟังหลายๆคนอธิบาย อาจทำให้เราได้มุมมองอะไรใหม่ๆก็ได้นะ

14.7.17

Schritt 16: ก้าวแรกในรั้วมหาลัย... ชีวิตใน Studienkolleg (ตอนที่ 1)

ในที่สุด ก็มาถึงช่วงไฮไลต์ ที่อยากจะเล่ามากที่สุดซักที หลังจากที่ได้เริ่มเขียนมาประมาณ 9 เดือนเศษ หวังว่าจะได้ให้ประโยชน์กับใครหลายๆคนไปบ้างเนอะ เอาจริงๆ มันก็มีบางอันเท่านั้นแหละ ที่มีคนอ่านเยอะ บางอันโพสต์ไปเป็นเดือนแล้ว ยังมีคนอ่านรวมแค่ 10 กว่าๆเอง 555 แต่ก็ไม่เป็นไร ความตั้งใจเรา ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงเนอะ
ซึ่งในวันนี้ ก็ตั้งใจจะมาเขียนเรื่องราว เกี่ยวกับการเรียนใน Studienkolleg อย่างที่หลายๆคน อาจทราบกันมาบ้างแล้ว ว่าเราเรียนอยู่ที่ Studienkolleg am KIT ในเมือง Karlsruhe ตอนแรกที่เคยได้ยิน ก็ไม่มีไอเดียในหัวหรอก ว่ามันจะเป็นยังไง ยากง่ายแค่ไหน แล้วก็เป็นความตั้งใจของเราที่จะเขียนบล็อกนี้ด้วย จึงขอโอกาสมาเล่าให้ฟังละกัน
ส่วนใครที่กำลังจะสอบเข้า แล้วหาแนวข้อสอบอยู่ คลิกที่นี่เลย >> Schritt 9: มาลองฝึกทำข้อสอบกันเถอะ!

ผ่านไปหลายสัปดาห์ หลังจากที่ได้ลงทะเบียน และจ่ายเงินเป็นที่เรียบร้อย ก็มาถึงวันแรกที่รอคอย เป็นวันปฐมนิเทศ เขาก็จะเล่าเรื่องกฎของที่นี่ อย่างเช่น เข้าเรียนให้ตรงเวลา ห้ามเล่นมือถือระหว่างเรียน (กฎทั่วๆไป ที่แม้แต่เด็กไทยและเด็กทั่วโลก ก็ทำไม่ได้ทุกคน 555)
กฎที่ดูสำคัญ แต่ก็ไม่ได้เคร่งครัด เช่น การทำเรื่องเกี่ยวกับ Amt เช่นไปต่อวีซ่า ควรนัดนอกเวลาเรียน (ซึ่งที่จริง ถ้ามีนัดเวลาเรียนก็ไม่เป็นไร) มีการเช็คชื่อเข้าเรียน ถ้าขาด 3 ครั้ง ส่งใบเตือน ถ้าได้ใบเตือน 2 ครั้งแล้ว จะถูกเชิญให้ออก (แต่ก็มียกเว้นแบบป่วย แต่ต้องมีใบรับรองแพทย์) ซึ่งเอาจริงๆ ก็มีครูบางคนนะ ที่ไม่เคยเช็คชื่อด้วยซ้ำ
แต่กฎที่สำคัญก็มี เช่น ต้องมาสอบ Klausur ทุกครั้ง ถ้าไม่มาโดยไม่มีเหตุจำเป็น จะถูกปรับตกทันที โดยไม่มีการสอบย้อนหลัง เว้นแต่จะมีใบรับรองแพทย์ ก็อาจมาขอสอบซ่อมได้

รูปตึกเรียน (ซีกซ้ายเป็น STK ซีกขวาเป็นคณะ Informatik)

29.6.17

Schritt 15: เอกสารท่วมหัว ต้องเอาตัวให้รอด!

เรามาอัพเดตบล็อกปิดท้ายเดือนมิถุนายน กับเรื่องของเอกสารกันอีกรอบดีกว่า ในวันนี้มีเรื่องหลักๆ คือ การ activate บัญชี Blocked Account (Deutsche Bank) และเอกสารยิบๆย่อยๆ ที่ควรรู้ เวลามาอยู่เยอรมนี เอาแบบสั้นๆ เนอะ เดี๋ยวจะหลับกันก่อน

ใครที่ยังไม่รู้ว่า Blocked Account คืออะไร เปิดอย่างไร กลับไปอ่านได้ที่หน้านี้เลย >> Schritt 6: เรื่องเงิน เรื่องใหญ่!!
อันนี้ต้องบอกก่อนว่า เราทำที่สาขา Karlsruhe (ก็ตัวอยู่นี่หนิหว่า จะให้ไปทำที่ไหนหละ - -') ซึ่งที่นี้ มีสาขาเดียวในเมือง *อ่อ บอกก่อนว่า ตอนแรกเรากรอกเอกสารไปว่าจะไปเรียน Uni Bonn นะ บัญชีของเราก็ถูกเปิดที่ Bonn แต่สุดท้ายจะ activate ที่ไหนก็ได้ ไม่มีปัญหาอะไร* แล้วก็บอกว่าบางสาขา อาจมีขั้นตอนไม่เหมือนกันเป๊ะๆ แต่ก็ประมาณนี้แหละ

ขั้นแรกก็ไปหาพนักงาน บอกว่าจะมา aktivieren ที่ Karlsruhe เขาจะให้ Termin เราว่ามาได้เมื่อไหร่ น่าจะเป็นเพราะเมืองนี้เด็กต่างชาติเยอะ แต่บางที่ก็ตรงเข้าไปทำได้เลย ลองสอบถามดูนะ :)
ซึ่งพอถึงเวลานัด เราก็ไปถึงตามเวลาา ที่แปลกมากคือ เขาพาเราไปทำพร้อมๆกันกับใครก็ไม่รู้เป็นกลุ่ม แต่ก็อะนะ เขาพาไป เราก็ต้องไป เราก็ต้องกรอกเอกสารอีกนิดๆหน่อยๆ เขาก็เหมือนขอ Pass เราไปก้อปปี้ด้วย และที่แปลกอีกอย่างหนึ่ง เขาไม่ถามถึง Meldebestätigung เลย! จนเราต้องถามเขาว่า ตงลงจะเอาไปก้อปปี้ไหม พนักงานก็เลยเอาไปก้อปปี้ด้วย สรุปคือ งงมากๆ ว่าต้องใช้จริงๆไหม (สำหรับเมืองนี้นะ, เพราะเคยไปลองทำที่ Bonn ตอนนั้นยังไม่มีใบ เขาก็บอกทำให้ไม่ได้) ใช้เวลาไม่นานจริงๆ แล้วก็เสร็จ แล้วก็ถ้าเร่งด่วน น่าจะไปถอนเงินได้เลยนะ แต่ต้องไปกรอกเอกสารกับเจ้าหน้าที่ เพราะเรายังไม่มีบัตร และ PIN

28.5.17

Schritt 14: ที่ซุกหัวนอน ตอนที่ 3 (สำเนาทะเบียนบ้าน)

ถือว่าเป็นตอนสุดท้ายกับเรื่องการหาที่พักละ ในเมื่อเราย้ายเข้า ก็จำเป็นต้องมีสัญญาเช่าห้อง แน่นอนว่า ประสบการณ์เราก็ไม่ช่ำชอง เพราะอยู่มาไม่ถึงปี ที่พักก็ไม่เคยเปลี่ยน ทำสัญญาแค่ครั้งเดียว ไว้ถ้าย้ายที่พัก แล้วมีอะไรพิเศษก็จะเอามาอัพเดตเพิ่มเติมเหมือนเดิม อย่างที่เคยบอกไปก่อนหน้าเนอะ (บทนี้อาจจะสั้นไปหน่อย (รึเปล่า) และก็อาจมีพิมพ์พลาดบ้าง ต้องขออภัย)

ซึ่งสัญญาเช่าห้อง เน้นว่าอ่านให้ดีๆ ก่อนจะเซ็นชื่อ ควรจะให้ครอบคลุม ว่าจ่ายเท่าไหร่ รวมค่าอะไรบ้าง เงื่อนไข
สัญญาเป็นยังไง บางทีต้องเสริมค่าเน็ต จะยกเลิกสัญญา ก่อนกำหนดได้มั้ย ต้องแจ้งล่วงหน้านานเท่าไหร่ อย่าลืมเช็ค เพราะเคยได้ยินมาเหมือนๆกันว่า สัญญาห้อง ติดระยะยาว หรือห้องห้ามปล่อยให้เช่าต่อ (ปกติแล้ว ถ้าเป็นหอมหาลัย เค้าจะห้ามอยู่แล้ว) เช่น มีเพื่อนเราคนนึง ไปอยู่แทนเพื่อนของเขา เพราะเจ้าตัวไม่อยู่ เดือน 2 เดือน แล้วทางคนดูแลหอเขาจับได้ สุดท้าย เพื่อนคนนั้นก็ไม่ได้ค่า Kaution คืน แต่ก็มีเพื่อนอีกคนนึงเหมือนกัน ได้ห้อง เพราะคนรู้จักเค้าไม่ได้เรียนต่อที่นี่แล้ว แต่กลับไม่มีปัญหาอะไร (หรืออาจจะมีในอนาคตรึเปล่าไม่รู้เหมือนกันอะนะ เพราะไม่ได้ถามละเอียด) แต่ยังไง ที่อยากฝากไว้คือ จะเซ็นสัญญาอะไรที่นี่ ต้องอ่านดีๆ (รวมทั้งพวกสัญญามือถือด้วย)

พอได้สัญญามาแล้ว เราก็สามารถไปลงทะเบียน เพื่อขอใบที่เรียกว่า Meldungsbestätigung จะเรียกว่าทะเบียนบ้านของไทยก็ไม่เชิง เพราะที่นี่ไม่เคยเห็นอะไรเป็นเล่มๆเลย แม้แต่บัญชีธนาคาร ก็ไม่มีสมุดให้ (แปะไว้อีกเรื่องนะ มาเล่าละเอียดทีหลัง 555) ซึ่งขอบอกก่อนว่า แต่ละเมือง วิธีการ ต่างกันแน่นอน แต่ที่แน่ๆ ก็ให้ไปติดต่อพวก Rathaus ยังไงเค้าก็บอกเราเองแหละ ว่าควรทำอะไรยังไงเนอะ

17.5.17

Schritt 13: ที่ซุกหัวนอน ตอนที่ 2 (ประสบการณ์ตรง)

สุดท้ายก็ผิดสัญญา ไม่ได้มาเขียนตามที่นัดไว้ T T แต่ก็เอาเป็นว่าเรามาต่อกันที่เรื่องของ ที่พัก กันเลยดีกว่า ที่จริงตอนนี้อีกเดือนนิดๆก็จะสอบจบ STK แล้ว แต่ยังไม่ได้เริ่มเล่าเลย ว่าระหว่างเรียนเป็นยังไง น่าจะอีก 2-3 ตอนได้มั้ง ไม่แน่ว่าพอสอบจบแล้วเพิ่งจะเริ่มเขียน ก็เป็นได้ 555

ประสบการณ์การหาที่พักของตัวเอง ก็อย่างที่เคยบอกไปตั้งแต่ตอนที่แล้ว Studentenwohnheim ของมหาลัย จองไปล่วงหน้าเป็นเดือน ก็เท่านั้นเลย เต็มอย่างเดียว ดูยังไง แววที่จะได้ไปตอนถึงที่นั้นเท่ากับ 0 ก็เลยต้องหาจากเว็บ wg-gesucht.de พยายามจะหาตั้งแต่ที่ไทย ถึงแม้เราจะเขียนแนะนำตัวเป็นภาษาเยอรมัน อ่านรายละเอียดที่เขาบอก ว่าต้องการรู้อะไรจากเรา ก็ไม่มีใครตอบกลับ พวกที่ตอบกลับ มีแต่มิจฉาชีพเท่านั้น เรียกได้ว่า ยิ่งหา ยิ่งท้อใจ สุดท้ายเลยต้องเอามาตายดาบหน้า หาห้องตอนอยู่ที่นี่เลย
เทคนิคที่อยากจะฝากเลย คือ เวลาหาห้องเหล่านี้ ยิ่งถ้าเป็นเมืองมหาลัย ช่วงใกล้ๆเปิดเทอมอีก แค่ลงไป 1 ชั่วโมง มั่นใจได้เลย ว่าต้องมีคนเขียนไปหาแล้วเป็น 10 คน เพราะความต้องการห้องมันสูงมาก ดังนั้น เวลาจะติดต่อ ห้องที่ประมาณว่าโพสไปเมื่อ 2-3 วันที่แล้วนี่ แทบจะลืมไปได้เลย มันไม่อยู่ให้เราแล้วแน่นอน
แหล่งหาห้องที่ดี อีกวิธีนึง ก็จะเป็นทางหนังสือพิมพ์ประจำเมือง รวมถึง เว็บไซต์และบอร์ดที่ Studentenwerkของทางมหาลัยเอง (อันนี้ปลอดภัยชัวร์ เพราะเค้าสกรีนมาแล้ว) หรือบอร์ดสาธาณณะ หรือบอร์ดตามอาคารมหาลัย ก็อาจพบได้เช่นกัน

พอมาถึงที่นี่ ได้จองห้อง hostel ไว้ประมาณ 5 วันได้มั้ง (Airbnb เป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่ตอนนั้นตัดสินใจช้าไปหน่อย เลยไม่มีห้องเหลือแล้ว เศร้า T T) ระหว่างนี้เป็นช่วงที่ลุ้นยิ่งกว่าตอนสอบเสร็จอีก ว่าจะติดรึเปล่า เพราะถ้าสอบไม่ติด ยังหาอะไรทำได้ แต่ถ้าไม่มีที่อยู่นี่ หนักเลย! เงินในช่วงนี้ ก็ต้องเป็นเงินแบบติดกระเป๋า เพราะถ้าใครยังจำได้ ว่าเราเคยเปิดบัญชี Sperrkonto เอาไว้ ก็ยังใช้ไม่ได้ เพราะเราต้องไป activate ก่อน โดยเอกสารที่ต้องใช้ก็คือ ที่อยู่บ้านนั่นเอง เรียกได้ว่า เครียดสุดๆ บอร์ดมหาลัยตอนนั้น ก็มีห้องประมาณ 20-30 ห้องได้ แต่ราคาแต่ละห้องนี่ 400 ยูโรบวกๆ ต่อเดือน หรือบางทีเป็นห้องเปล่าอีก (วิธีติดต่อที่ได้ผลเร็วที่สุด คือการโทรศัพท์ และยิ่งตอนนั้น ด้วยภาษาอันแกร่งกล้าของเรา ทำให้ไม่กล้าโทรไป) สุดท้ายก็ไม่ได้ติดต่อไปซักที่

20.4.17

Schritt 12: ที่ซุกหัวนอน ตอนที่ 1 (ข้อมูลเรื่องที่พัก)

กลับมาอีกครั้งแล้ว หลังจากหายไปเกือบเดือน เป้าหมายในเดือนนี้คือ เขียนให้ได้ 2 ตอน เพราะว่าตอนนี้อยู่ในช่วงวันหยุดยาวพอดี ที่ไทยก็จะเป็นสงกรานต์ ที่นี่ก็จะเป็นอีสเตอร์ (ส่วนประวัติไปหาอ่านได้ตาม google ทั่วไปนะ ขี้เกียจเล่า อิอิ) ตอนหน้าคาดว่าจะปล่อยอาทิตย์นี้ต่อกันเลยเนอะ ไม่อยากเขียนแล้วดองเก็บไว้ 555

โอเค พอหอมปากหอมคอ เข้าเรื่องเลยละกัน ก่อนอื่น ก่อนที่จะเล่าประสบการณ์ของตัวเอง ต้องมาอธิบายถึงสิ่งที่ควรรู้เรื่องที่พักก่อนเนอะ เพราะมันมีหลายประเภท แต่ละแบบก็ต่างกันไปอีก ซึ่งมันจำกัดความได้ยาก ที่เขียนในที่นี้ อาจไม่ได้เป๊ะๆ 100% ซึ่งคำว่าไม่เป๊ะ ไม่ใช่เขียนแบบมั่วๆนะ แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป ถูกต้องเป็นสรณะ แต่ก็จะพยายามเขียนให้ครอบคลุมที่สุดนะ :)

- WG (Wohngemeinschaft)
แปลตรงๆตัวก็คือ การอาศัยอยู่ร่วมกัน คาดว่าประเทศไทยก็อาจจะมี แต่มันคิดคำไม่ออก 555 เป็นที่พักที่ไม่ใช่นิยมแค่นักเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงคนทำงาน หรือแม่แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ ที่ไม่ได้มีบ้านของตัวเอง ลงหลักปักฐานอะไร โดยหลักๆเราก็จะมีห้องนอนส่วนตัว (บางที่ห้องนอนก็ต้องแชร์ 2-3 คน ก็มี) และแบ่งกันใช้ห้องครัว ห้องน้ำ ถ้าที่ไหนดีๆ หรือมีพื้นที่หน่อย ก็อาจจะมี ห้องกินข้าว ห้องนั่งเล่นด้วย ส่วนใหญ่ก็จะมีเวรทำความสะอาด แต่ใช่ว่าบางทีมันจะสะอาดนะ ขึ้นอยู่กับนิสัยแต่ละคนด้วยแหละ ถ้าได้เพื่อนบ้านดี ก็จะโชคดีไปอย่าง เหมาะสำหรับคนที่มีนิสัยคล้ายๆกัน ทำให้บางที่ ต้องถึงกับมีการเปิดบ้าน คัดตัวกันเลยทีเดียว (ไม่ได้หากันมาได้ง่ายๆ เห็นมั้ย) บางที่อาจจะมีนัดกิจกรรมร่วมกันทุกอาทิตย์ แล้วแต่กฎประจำบ้านนั้นๆไป แต่ถ้าเป็นบ้านของเจ้าของบ้าน แล้วปล่อยให้เช่า อันนี้ก็จะมีขั้นตอนอีกแบบนึง คือ ขึ้นอยู่กับเจ้าของบ้านเลย (บอกแล้วว่ารายละเอียดยิบย่อยเยอะมากกกก) ส่วนเว็บไซต์ยอดฮิตที่ใช่หา ก็คือ wg-gesucht.de และอื่นๆอีกมากมาย (เรียกว่า เป็นหนึ่งแหล่งทำเงินได้ไม่ยากเลย ไว้ใครมีบ้านในเยอรมัน ลองมาทำดู อาจได้เงินทั้งๆที่นอนอยู่บ้านเฉยๆก็ได้นะ 555)

15.3.17

Schritt 11: ช่วงเวลา เปลี่ยนชะตาชีวิต (ตอนที่ 2)

สัปดาห์นี้ มาเขียนต่ออย่างรวดเร็ว (ถ้าเทียบกับบทที่แล้วอะนะ 555) เพราะสัปดาห์หน้า และหน้าๆ อาจจะไม่ว่างมาอัพเดต จะมาเขียนต่อได้อีกทีเดือนหน้าเลย T T (เห็นใจหน่อยนะ มีงานต้องสะสาง)

จากที่ค้างปมกันในตอนที่แล้ว เกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นก่อนจะไปสอบ Leipzig นั่นคือ"... ผลสอบของ STK KIT ออกแล้ว!! ปรากฏว่าติดด้วย คือผิดแผนมาก ไม่คิดว่าจะติด เพราะทำไม่ได้ทุกข้อ (ที่จริงไม่ได้ทำทุกข้อ ตังหาก 555) ตอนจบก็ไม่ทันได้ตรวจ รีบๆเขียนไป แล้วที่ต้องอึ้งกว่าเดิม คือ อีก 2 วัน เค้ามีนัดให้มาฟังบรรยายการลงทะเบียนเข้า แล้วตัวยังอยู่ Berchtesgaden อยู่เลยครับ สุดยอดไปเลย T T  อีกหนึ่งแจ๊กพอต คือมันเป็นวันก่อนสอบที่ Leipzig พอดี จองห้องในที่นั่น และวันนั้นไปแล้วด้วย แต่จะหอบสังขารใน 1 วัน ไปทั้ง Karlsruhe ทางทิศตะวันตก มาLeipzig ทางทิศตะวันออก ร่วมๆ 1000 กิโลเมตร มีหวังตายก่อนพอดี สุดท้ายเลยต้องตัดสินใจว่า... "ลาก่อน STK Leipzig"

พอไปถึง STK KIT จำได้ว่าวันนั้นต้องตื่น ตี3 กว่าๆ เพื่อไปให้ถึงก่อน 9โมงเช้า (ต้อง Strong จริงๆ) แล้วพอไปถึง เค้ามีให้ตรวจสอบชื่อตัวเอง ว่าใครต้องมาลงทะเบียนวันไหน รายชื่อเรียงตามตัวอักษรของนามสกุลเลย เราขึ้นต้นด้วย C และจำได้แม่น ว่ามันคือวันอังคารที่13 กันยายน 2016 ถ้าถามว่าทำไมจำได้แม่น... เพราะมันคือวันเดียวกับที่ต้องไปสอบ STK Hannover ไงครับ!! หัวนี่ว่างเปล่า ตัวนี่แทบทรุด เพราะเราก็อุตส่าห์มีเป้าหมาย อยากเข้านู่นที่สุด (เค้าเขียนว่า ถ้าไม่มาในวันบรรยายนี้ อาจถูกตัดชื่ออกอะสิ ซึ่งถ้าที่Hannover สอบไม่ติดก็แบบว่า คงได้โหวงไป 6เดือนแน่ เลยตัดสินใจไปที่นั่น play safe! หรืออีกคำคือ ป๊อด นั้นเอง 555) สรุปแล้ว ถ้าไอSTK ที่นี่ มันจะทำลายชีวิตข้าพเจ้าขนาดนี้เลยละก็นะ กระผมยอมเลย ขอคาราวะ

6.3.17

Schritt 10: ช่วงเวลา เปลี่ยนชะตาชีวิต (ตอนที่ 1)

สวัสดีครับผม ช่วงนี้รู้สึกตัวเองหายหน้าหายตาไปนาน สปีดการเขียนเริ่มตกถึงขั้นฉุกเฉินเลยทีเดียว จากที่สัญญาไว้ อย่างช่วงแรกเขียนอาทิตย์ละครั้ง เปลี่ยนมาเป็น 2 อาทิตย์ครั้ง แล้วก็เดือนละครั้ง จนถึงปัจจุบันเป็น 2 เดือนครั้ง 555 ต้องขอโทษอย่างสุดซึ้ง ที่จริงเดือนที่แล้วก็เขียน Schritt9 ภาคภาษาอังกฤษไป อาจดูเหมือนไม่มีอะไหร่ใหม่ๆเนอะ และหลังจากนั้นที่จริงในหัวก็มีหลายเรื่อง แต่เริ่มไล่ไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะเขียนเรื่องอะไรต่อดี หรือเรื่องอะไรก่อน จนมาถึงวันนี้ ก็ต้องหาเรื่องมาเขียนให้ได้อะนะ ไม่งั้นเดี๋ยวบล็อกจะเน่าไปก่อนจริงๆ
และใจจริงอยากจะเขียนให้ละเอียดแบบทุกขั้นไปเลยนะ เพราะหลังจากเตรียมตัวสอบ ก็ต้องเตรียมของ เก็บกระเป๋า แล้วก็รีวิวตอนนั่งเครื่องบิน ถึงสนามบิน แต่คิดไปคิดมา มันคงไม่น่าสนใจอะมั้ง เลยขอข้ามละกันเนอะๆๆๆ และจะมาพูดถึงประสบการณ์ การสอบเข้า STK ณ ประเทศเยอรมนี แห่งนี้ นี่เองงงงงงง

ย้ำอีกครั้ง ว่าบล็อกอาจไม่ค่อยมีรูปภาพประกอบเยอะแยะ อลังการ เพราะเป็นคนไม่ค่อยชอบถ่ายรูปอะไรเท่าไหร่ ถ่ายแบบมือโปรไม่เป็น กล้องไม่มี ใช้มือถือเอา แม้บางเมืองที่ไปเที่ยว ยังไม่ถ่ายซักรูปเลย 55 และถ้าไม่ตั้งใจจะเขียนบล็อกนี่ รูปคงไม่มีในกล้องเลยก็เป็นได้ ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ T T

ตัวอย่างภายในเครื่อง A380 (รูปไม่ได้ถ่ายเองนะ จิ้กเค้ามาจากเน็ต 555)
แต่ก็ขอเกริ่นซักนิดละกัน อิอิ เราบินมากับสายการบิน Emirates ช่วงครึ่งแรกด้วย A380 ที่เค้าว่าใหญ่ที่สุดตอนนี้ เครื่องเงียบจริงๆ จอก็ใหญ่ได้ใจแบบ HD อีกตังหาก แฮปปี้มาก แต่มีอยู่แค่อย่างเดียวที่ไม่ชอบคือ ปลั๊กเสียหูฟังมันอยู่ตรงข้างๆรีโมทตามภาพ ไม่ได้อยู่ตรงข้างๆที่นั่งหนะสิ เกะกะเวลาจะกินข้าว คนเดินผ่านก็ต้องถอดเข้าๆออกๆ ข้อเสียคิดออกอย่างเดียวจริงๆ ส่วนครึ่งหลัง หลังจาก transit ที่ดูไบ มาด้วยเครื่อง B777-300ER ดูเหมือนคนละโลกกับเครื่องก่อนหน้า เล็กกว่าทุกอย่าง แต่ก็อะนะ ทนๆอีกไม่กี่ชม. ก็ผ่านมาได้ และถึงสนามบิน Frankfurt โดยสวัสดิภาพ รวมเวลาเดินทางประมาณ 15ชม. กำลังดีเลย (ถ้า Direct flight ก็ประมาณ 11 ชม. ซึ่ง Emirates ไม่มีอยู่แล้วเนอะๆ)

5.1.17

Schritt 9: มาลองฝึกทำข้อสอบกันเถอะ! (Beispielaufnahmetest für Studienkollegs)

(Link to English Version... Click Here!!)

„Einen guten Rutsch ins neue Jahr!“ เริ่มต้นด้วยคำอวยพรีใหม่ในภาษาเยอรมัน กลับมาอีกครั้งกับบทที่ 9 หลังจากหายห่วงเรื่องวีซ่าไปหนึ่งเปราะ ก็ได้เวลามาตั้งใจกับการสอบที่กำลังจะต้องเผชิญในอีกไม่ช้า เนื่องจากที่เคยกล่าวไป สอบได้แต่ละที่ไม่เกิน 2 ครั้ง ถ้ายังไม่ผ่าน ก็ต้องกลับบ้านเก่าสถานเดียว ซึ่งเราก็เป็นคนพอประมาณ สมัครสอบ 3ที่ ก็ทำตัวอย่างข้อสอบแค่จาก 3ที่ จากหน้าเว็บที่ให้ตัวอย่างมา นั่นคือ KIT Hannover และ Leipzig โชคดีของเราคือ ทุกที่สอบแค่เยอรมัน และ เลข (โดยบางที่อาจมีฟิสิกส์เข้ามาด้วย) แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า บางที่มันไม่ให้เฉลยมาหนะสิ ทำไปไม่รู้ข้อผิดพลาดตัวเอง บางทีก็googleเจอ จากคนอื่นที่เขาเคยทำเฉลยไว้ให้ บางทีก็ไม่มีใครทำเฉลยไว้ให้เลย

เนื่องด้วยเหตุนี้เอง วันนี้จึงขอรวบรวมตัวอย่างข้อสอบจาก 3 ที่ดังกล่าว (คงเอามาแปะทุกที่ไม่ไหวหรอกนะ ขี้เกียจ 555) มาให้ทุกคน แถมลิงค์เฉลยทำเองไว้ด้านล่าง

! ทำความรู้จักกับข้อสอบเยอรมันแบบ C-Test กันก่อน !
C-Test เป็นข้อสอบคล้ายๆเติมคำในช่องว่างให้สมบูรณ์ โดยใน 1บทความ จะมีหัวเรื่อง ประโยคเริ่มต้น และประโยคจบ ให้พอรู้ไอเดีย ว่าเป็นเนื้อเรื่องเกี่ยวกับอะไร จากนั้น จะเป็นบทความให้เติมคำ เว้นคำ โดยคำที่ต้องเติม จะมีไกด์มาครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งคือสิ่งที่เราต้องเติมนั่นเอง
กฎก็จะมีอยู่ประมาณว่า ส่วนที่เค้าให้มา จะเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนตัวอักษรของคำนั้นๆ เราต้องเติมตัวอักษรเท่ากับจำนวนที่เขาให้มา หรือมากกว่า 1
พูดแล้วงงแน่นอน ตัวอย่างเช่น เค้าให้มา 2 ตัวอักษร เราสามารถเติมได้ 2-3 ตัวอักษรเท่านั้น อย่าง "de__ Mutter" ถ้าเรารู้ว่าต้องเติม Artikel แน่ๆ สิ่งที่ตัดออกจากหัวเลยคือ der die das dem den dessen deinem deiner deinen คำตอบที่เป็นไปได้ก็จะมี dein deine deren ซึ่ง dein ก็เป็นไปไม่ได้ตามหลักแกรมม่าอยู่แล้ว ทำให้เหลือคำตอบที่เป็นไปได้อยู่ 2ตัว ที่เหลือก็ต้องดูใจความแล้วหละ เป็นต้น