ซึ่งในวันนี้ ก็ตั้งใจจะมาเขียนเรื่องราว เกี่ยวกับการเรียนใน Studienkolleg อย่างที่หลายๆคน อาจทราบกันมาบ้างแล้ว ว่าเราเรียนอยู่ที่ Studienkolleg am KIT ในเมือง Karlsruhe ตอนแรกที่เคยได้ยิน ก็ไม่มีไอเดียในหัวหรอก ว่ามันจะเป็นยังไง ยากง่ายแค่ไหน แล้วก็เป็นความตั้งใจของเราที่จะเขียนบล็อกนี้ด้วย จึงขอโอกาสมาเล่าให้ฟังละกัน
ส่วนใครที่กำลังจะสอบเข้า แล้วหาแนวข้อสอบอยู่ คลิกที่นี่เลย >> Schritt 9: มาลองฝึกทำข้อสอบกันเถอะ!
ผ่านไปหลายสัปดาห์ หลังจากที่ได้ลงทะเบียน และจ่ายเงินเป็นที่เรียบร้อย ก็มาถึงวันแรกที่รอคอย เป็นวันปฐมนิเทศ เขาก็จะเล่าเรื่องกฎของที่นี่ อย่างเช่น เข้าเรียนให้ตรงเวลา ห้ามเล่นมือถือระหว่างเรียน (กฎทั่วๆไป ที่แม้แต่เด็กไทยและเด็กทั่วโลก ก็ทำไม่ได้ทุกคน 555)
กฎที่ดูสำคัญ แต่ก็ไม่ได้เคร่งครัด เช่น การทำเรื่องเกี่ยวกับ Amt เช่นไปต่อวีซ่า ควรนัดนอกเวลาเรียน (ซึ่งที่จริง ถ้ามีนัดเวลาเรียนก็ไม่เป็นไร) มีการเช็คชื่อเข้าเรียน ถ้าขาด 3 ครั้ง ส่งใบเตือน ถ้าได้ใบเตือน 2 ครั้งแล้ว จะถูกเชิญให้ออก (แต่ก็มียกเว้นแบบป่วย แต่ต้องมีใบรับรองแพทย์) ซึ่งเอาจริงๆ ก็มีครูบางคนนะ ที่ไม่เคยเช็คชื่อด้วยซ้ำ
แต่กฎที่สำคัญก็มี เช่น ต้องมาสอบ Klausur ทุกครั้ง ถ้าไม่มาโดยไม่มีเหตุจำเป็น จะถูกปรับตกทันที โดยไม่มีการสอบย้อนหลัง เว้นแต่จะมีใบรับรองแพทย์ ก็อาจมาขอสอบซ่อมได้
รูปตึกเรียน (ซีกซ้ายเป็น STK ซีกขวาเป็นคณะ Informatik) |
หลังจากนั้น ก็มีการอธิบาย ถึงสิทธิการเป็นนักศึกษาในมหาลัยแห่งนี้ เช่น มีศูนย์คอมพิวเตอร์ (ที่ตัวเราเองชอบไปบ่อยๆ อิอิ) เพราะพิมพ์เอกสารในราคาถูก (ประเด็นคือ ขี้งกมากกว่า ก็ข้างนอกมันแพงกว่าอะ 555) และสุดท้าย ก็ได้แยกตามห้อง เพื่อทำความรู้จัก Kursleiter(in) เป็นเหมือนครูประจำชั้นนั้นแหละ แล้วก็เพื่อนๆในห้อง แนะนำตัวกันไป ชื่อเสียงเรียงนาม ชอบอะไร จะเรียนต่ออะไร ก็สไตล์เดิมๆ พอเสร็จพิธี ก็ได้แยกย้ายกลับบ้าน จบไปกับวันแรกแต่ที่จริงแล้ว ทั้งสัปดาห์นั้น ก็ยังเป็นเหมือน สัปดาห์ปฐมนิเทศอยู่ดี ทำความรู้จักครู แล้วก็แนะนำตัว ซ้ำไปซ้ำมา เริ่มเรียนจริงๆจังๆ ก็ประมาณคาบที่ 2 ของแต่ละวิชานั่นแหละนะ
ลืมบอกไปว่า ถ้าเป็น Wintersemester (WiSe) เขาจะรับเยอะหน่อย นั่นคือ เปิด 4 ห้อง ห้องละประมาณ 20 คนนิดๆ ส่วน Sommersemester (SoSe) จะเปิดเพียง 2 ห้อง ห้องละประมาณ 20 กว่าคน เหมือนกัน ก็แบ่งเป็นห้อง Informatik กับ Chemie เท่าๆกัน เทอมแรกก็จะเรียกว่า T1 ส่วน เทอม 2 ก็จะเรียกว่า T2 หลังจบ T2 ก็สอบ FSP แต่ก็อาจจะมีเด็กพิเศษบางกลุ่ม ที่สมัครมาช่วง SoSe แล้วก็ได้ข้ามมาเรียน T2 เลย (เท่าที่สืบหามาได้นั้น พบว่าไม่ได้ตัดจากคนที่มีคะแนนสอบดีเสมอไป เป็นเหมือนดวงมากกว่า ว่าเขาจะเลือกใคร) ถ้าเป็นช่วง WiSe ซึ่งเป็นเปิดเทอมปกติ มัจะไม่มีใครได้ข้ามไป T2 แต่ถ้าใครข้ามมา ก็มีข้อเสียนิดนึง คือ ต้องฟิตกว่าคนอื่นเขาหน่อย เพราะว่าไม่ได้เรียนเนื้อหาจากเทอมแรกมา จริงมั้ย ทั้งหมดก็เป็นเช่นนี้แล...
เรียนที่นี่ ชิวอย่างไร? เทอมแรก จะมีในสัปดาห์หนึ่งๆ คณิต 4 คาบ ฟิสิกส์กลศาสตร์ 2 คาบ ฟิสิกส์ไฟฟ้า 1 คาบ เคมี หรือ Informatik (คอมพิวเตอร์) 3 คาบ ซึ่งขึ้นอยู่กับห้องที่อยู่ ที่มาจากการเลือกคณะตอนแรกที่อยากเข้าของเรา ถ้าใครเลือกแนวๆ วิศวะโยธา หรือมี bio ผสม ก็จะได้เรียน เคมี ส่วนถ้าใครเลือกสาย เกี่ยวกับสายวิศวะคอม ไฟฟ้า ก็จะอยู่ห้อง Informatik กันซะส่วนใหญ่ (สำหรับเรา ได้เรียนคอร์ส Informatik เพราะว่าตอนแรก สมัครคณิตไป) และ Deutsch อีก 5 คาบ แบ่งเป็น ฟัง-อ่าน 2 คาบ และ เขียน-แกรมม่า 3 คาบ ที่แบ่งชัดเจนอย่างงี้ เพราะเขาก็แบ่งครู เป็น 2 คนเหมือนกัน รวมๆกันก็ 15 คาบ คาบนึงก็คือ 90 นาที หลังจบวิชานึง ก็จะมีพัก 15 นาที เอาง่ายๆ เลย ตารางเรียนของเรา ก็แค่ 8 โมงเช้า ถึง บ่ายโมง เท่านั้น!! แล้วสำหรับใครที่ Deutsch befreit ก็ได้เวลาเอาไปทบทวนบทเรียนเพิ่ม เพราะหายไปฟรีๆ ถึง 5 คาบ (พูดตรงๆ คือ เอาเวลาไปนอนเล่นก็ได้ ยิ่งถ้าวิชาเยอรมันอยู่คาบแรก ก็ได้นอนไปยาวๆ) แต่ก็สำหรับคนที่ได้ใบภาษาพวก TestDaF ที่เคยยื่นเพื่อผ่านตั้งแต่รอบสอบเข้า เท่านั้นแหละ ส่วนเราๆ ที่มีแค่ B1 ก็ตั้งใจเรียนต่อไปนะ ฮึ้บๆๆก่อนจะมาพูดกันว่า เทอมแรกเขาเรียนๆอะไรกันบ้าง มาพูดถึงการสอบกันหน่อยดีกว่า ที่นี่จะไม่มีตารางสอบเหมือนประเทศไทย เทศกาลสอบกลางภาค ปลายภาคอย่างนั้น แต่จะสอบในคาบกระจายไปทั้งเทอม เรียกว่า กระจายความเครียดได้อย่างสม่ำเสมอจริงๆ สงสัยเขาคิดไว้อย่างดีแล้วหละมั้ง 555 โดยคณิต สอบ 3 ครั้ง ฟิสิกส์ 2 ครั้ง เคมี หรือ Informatik 2 ครั้ง เกณฑ์คือ แค่เกรดเฉลี่ยแต่ละวิชาให้ผ่าน 4,0 ถ้าไม่ผ่าน ถึงมีการสอบซ่อม Nachklausur อีกครั้ง ถ้ายังไม่ผ่านอีก ก็ต้องซ้ำชั้น (ต่างจากของไทยเนอะ ถึงสอบตก ก็ให้ผ่านชั้นต่อไปก่อน แบบนี้ จะเรียนกันต่อไปได้ยังไง บางทีก็ไม่เข้าใจระบบแปลกๆ ของไทย จริงๆ)
โดย 4,0 ไม่ได้วัดจากครึ่งหนึ่งนะ ที่นี่เขาใช้เกณฑ์แบ่งแบบเท่าๆ กัน เช่น คะแนนเต็ม 25 คะแนน
5 คะแนน = 4,0 // 10 คะแนน = 3,0 //15 คะแนน = 2,0 // 20 คะแนนขึ้นไป = 1,0
แถมที่นี่ ถึงเขาจะวัดแค่คะแนนจากการสอบอย่างเดียวก็จริง แต่ก็ไม่ได้โหดร้ายไปซะหมด เพราะบางที ครูอาจออกข้อสอบ ให้เต็ม 30 คะแนน แต่เกณฑ์วัด ยังเต็มอยู่ที่ 25 คะแนน เหมือนเดิม เหมือนกับว่า ไม่ต้องทำถูกทุกข้อ ขอแค่ 20 คะแนน ก็ได้ 1,0 แล้ว (แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ คะแนนเลขกระผม มันก็ยังไม่เคยถึงครึ่งอยู่ดี ฮืออออ)
และพิเศษสำหรับวิชา Deutsch จะแบ่ง ฟัง อ่าน เขียน แกรมม่า อย่างละครั้ง คะแนนเต็ม 100 เกณฑ์ผ่าน อยู่ที่ 67 คะแนน (เกรด 4,0) จากนั้นก็ลดหลั่นกันไป ตามลำดับ
ส่วนเนื้อหาที่เรียน ก็ขึ้นอยู่กับครูอีกแหละ ใครเจอครูโหดมาก โหดน้อย ก็โชคดีกันไป ความเข้มข้น อาจไม่เท่ากันซะทีเดียว แต่มันก็มี เนื้อหาเหมือนพื้นฐานที่เจออยู่แล้วหละ ในเทอมที่ 1 ตัวเราเจอ
คณิตศาสตร์:
- vollständige Induktion (การพิสูจน์เชิงอุปนัย)
- Fallunterscheidung (การหาคำตอบสมการหรืออสมการ โดยแบ่งกรณี)
- Gruppen- und Körperstrukturen (การพิสูจน์คุณสมบัติของเซตจำนวนทางพีชคณิต)
- komplexe Zahlen und Gaußche Zahlenebene (จำนวนเชิงซ้อน และ ระนาบเชิงซ้อน)
- Funktionen und Kurvendiskussion (ฟังก์ชันและการวาดกราฟ)
- Grenzwert und Stetigkeit (ลิมิตและความต่อเนื่อง)
- Differentialrechnung (Ableitung) (อนุพันธ์)
ที่พูดมา แต่ละหัวข้อ ไม่ง่ายเลย แล้วบางอย่างนี่ ก็ไม่มีในเลขม.ปลาย บ้านเรา แต่ก็ไม่ต้องเป็นห่วงนะ ว่าจะไม่รู้จักศัพท์นั่นนี่ เพราะตอนแรกก็กลัวอยู่เหมือนกัน จะเตรียมตัวก่อนเรียนยังไงดี แต่เขามีค่อยๆสอนแน่นอน เพราะแน่นอนว่า ทั้งห้องที่นั่งอยู่ ก็ไม่มีใครรู้ศัพท์พวกนี้หมดหรอก
ฟิสิกส์:
- Bewegung bei konstanter Beschleunigung (การเคลื่อนที่ด้วยความเร่งคงที่)
- freier Fall und scheifer Wurf (การตกอย่างอิสระ และ โปรเจคไทล์)
- Stoß und Impuls (การชนและโมเมนตัม)
- Reibungskräfte und schiefe Ebene (แรงเสียดทาน และ พื้นเอียง)
- Energie (พลังงาน)
- Erhaltungsgröße (กฎการอนุรักษ์)
- Ohmsches Gesetz und Kirchhoffsche Regeln (กฎของโอห์ม และ กฎของเคอร์ชอฟ)
- elektrische Ladung und Kondensatoren (ไฟฟ้าประจุ และ ตัวเก็บประจุ)
จะเห็นว่า มันเหมือนแค่ฟิสิกส์เด็ก ม.4 ม.5 ซึ่งมันไม่ได้ยากอะไรมากมาย เอาจริงๆ มันคือคะแนนช่วย จากเกรดแย่ๆของเลขเลยก็ว่าได้
Informatik:
- Grundlagen der Informationstheorie (C. Shannon) (ทฤษฎีพื้นฐาน)
- Redundanz (ความซ้ำซ้อนของข้อมูล)
- Kommunikationsmodell (แบบจำลองการสื่อสาร)
- Zahlensysteme (ระบบเลขฐาน)
- Boolesche Algebra (พีชคณิตแบบบูล)
- Speichermedium (Diskette, Festplatte, CD,...) (อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล)
- Aufzeichnungsverfahren (NRZ, FM, MFM, RLL, PRML, EMF) (วิธีการบันทึกข้อมูล)
- Dateisystem (FAT, NTFS) (ระบบไฟล์)
- Transistoren und RAM (ทรานซิสเตอร์ และ RAM)
- ASCII (American Standard Code for Information Interchange)
- Datenbank und SQL (Microsoft Access) (ฐานข้อมูล และ SQL)
อยากบอกว่าก่อนจะสอบแต่ละทีนี้ แทบน้ำตาไหล ไม่ใช่เขาไม่สอนนะ คือ ตัวเรา และ อีกหลายๆคนในห้อง ก็ไม่เคยเรียนเรื่องพวกนี้มาก่อน เจอครั้งแรก ก็มีตามไม่ทันอยู่บ้าง แล้วบางหัวข้อ อาจแปลไม่ตรงแป๊ะๆ ซักทีเดียว เพราะเราก็ไม่รู้ว่าควรแปลยังไง ต้องขอโทษไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะ ถ้าลองได้ไปเรียนเดี๋ยวเรียนก็รู้เองแหละๆ
เคมี:
อย่างที่บอกไป ว่าไม่ได้เรียน แต่เท่าที่ถามเพื่อนมา เทอมแรกจะเป็นทฤษฎีซะส่วนใหญ่ ให้รู้จักคำศัพท์เยอะๆ ยังไงถ้ามีรายละเอียดมากกว่านี้ จะเอามาแปะเพิ่มให้นะ
เยอรมัน (Deutsch):
การเรียนส่วนใหญ่ จะออกแนวเตรียมตัวฝึกทำตัวอย่างข้อสอบ เพื่อ FSP มากกว่า จะมาเรียนอะไรใหม่ๆ เหมือนอ
ย่างคอร์สเยอรมันทั่วไป เนื้อหาก็จะออกแนวเทคนิค หรือวิทยาศาสตร์ มากกว่าพวกด้านสังคม หรือ วัฒนธรรม
- พาร์ทอ่าน และ ฟัง ก็จะมีบทความ จากนั้นก็ต้องตอบคำถาม ที่ส่วนใหญ่จะค่อนข้างตายตัว ปลายปิด ซึ่งส่วนตัวแล้ว ไม่ค่อยชอบการสอบแนวนี้เท่าไหร่ บทความก็จะออกแนว ถ้าให้เราแสดงความคิดเห็นเลยนั้น แทบจะไม่มี ถ้าเราอธิบายอะไรขาดหายไป คะแนนก็จะถูกหักอีก ส่วนใหญ่จะเป็นแบบ ให้อธิบายประโยคหนึ่งๆ โดยใช้คำพูดของเราเอง (บางอย่างอ่านยังแทบงง จะยังให้มาแปลเป็นเยอรมัน ก็ไม่ไหวนะ 555) เติมตารางให้สมบูรณ์ ให้บอกข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบ อาจมีถูกผิดให้กาบ้าง อาจเป็นเพราะว่ามหาลัย KIT ออกแนวเทคนิค มากกว่าพวกปรัชญาอะนะ
-พาร์ทเขียน จะไม่ใช่อธิบายสถิติ หรือกราฟข้อมูลต่างๆ ปกติจะให้เขียนอธิบายกราฟิค ที่มีลูกศร มีขั้นมีตอน อย่างที่บอกว่าออกแนวเทคนิค ทีเคยเจอมาก็จะเป็นพวกขั้นตอนการผลิตกระแสไฟฟ้าบ้าง การรีไซเคิลบ้าง การผลิตอาหารกระป๋อง หรือแม้แต่วัฏจักร การเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ (แต่ก็คงไม่ได้ละเอียดถึงขนาดเกินปฏิกิริยาอะไรบ้าง ผ่านเครื่องมือเครื่องจักรอะไรหรือแบบนั้นนะ) จากนั้นก็จะมีให้เราอธิบายข้อดี ข้อเสีย หรือบางทีให้เราแสดงความคิดเห็น ว่านวัตกรรมนี้ สามารถเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ เป็นต้น เวลา 70 นาที เทอมแรก ให้เขียนประมาณ 200 คำ เทอมที่ 2 จะเพิ่มเป็น 250 คำ เรียกว่า ต้องเขียนแบบห้ามหยุดคิดเลย เพราะแม้แต่ศัพท์ที่ยังไม่คุ้นเคย ยังมีแกรมม่าที่ต้องคอยตรวจเช็คตลอดเวลา (ใครที่เรียนก็จะรู้ ว่าประโยคเยอรมัน มันมีกฏมากกว่าอังกฤษเยอะแค่ไหน)
- พาร์ทไวยากรณ์ ก็จะไม่ใช่ให้เติมคำลงในช่องว่าง หรือจับคู่แบบเด็กๆอีกต่อไป ส่วนใหญ่จะให้เราเขียนประโยคใหม่ โดยไม่ใช่แค่ใจความ แต่ต้องมีองค์ประกอบแบบเป็ะๆ ตามประโยคโจทย์ โดยหัวข้อที่จะเจอ ก็ได้แก่ Aktiv/Passiv, Ralativsatz/Partizipalkonstruktion, Nominalisierung/Verbalisierung, Modalverb, Indirekte Rede (Konjunktiv I) อันนี้สำหรับเรา ถือว่าเป็นพาร์ทเก็บคะแนนนะ เพราะแค่จำกฏที่ต้องเป๊ะๆ แค่นั้น เช่น ถ้าโจทย์ไม่ให้ประธานเจาะจงมา เราก็ต้องแปลงประโยคโดยไม่ใช้ประธานเจาะจง หรือถ้าเป็นอดีตในรูป Perfekt ก็ต้องเปลี่ยนให้อยู่ในรูป Perfekt เหมือนเดิม เป็นต้น
อ่อ ลืมบอกไปเลย ว่าที่นี่ ปกติใช้แค่สมุดจด กับปากกา เป็นพอ หนังสือที่ซื้อเพิ่มไม่มีเลย ยกเว้น วิชาเยอรมัน ที่ใช้เล่มนี้ Mir Erfolg zur DSH (ที่จริงมีครูเป็นหนึ่งในผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยแหละ เขาเลยอยากให้เราใช้) กับอีกเล่มหนึ่ง ซึ่งตอนแรกบอกให้ซื้อ แต่ใช้จริงๆแค่ 2-3 คาบเอง คือ หนังสือ Grammatik เล่มสีส้ม จะซื้อก็ดี ถ้าไม่มี ก็ไปหายืมเพื่อนห้องข้างๆก็ได้นะ ;)
ก่อนจะไป แน่นอนว่า Studienkolleg แต่ละที่ มีหลักสูตรไม่เหมือนกัน รูปแบบการสอบไม่เหมือนกัน ที่นี่อาจจะขึ้นชื่อว่าเลขนั้นยาก ส่วนเยอรมันนั้น ไม่ได้ต้องการความคิดเห็นแบบซับซ้อน คือเราก็ไม่ได้มีประสบการ์ณตรงซักทีเดียว เพราะได้แต่ฟังคนอื่นเขามาเนอะ แต่เรียนแล้วรู้สึกว่า ได้อะไรมากเลย ทำให้คนๆหนึ่ง ที่คิดว่าเรียนดีพอสมควรตอนอยู่โรงเรียน ได้รู้สึกว่าตัวเองนั่น แท้จริงแล้ว ไม่ได้เก่งเอาซะเลย สู้ๆต่อไปฮะ ซักวัน เราจะกลับมาคว้า 1,0 ให้ได้ อิอิ
เอาหละ แต่สุดท้าย ยังไงเราก็ผ่านมาจนได้กับเทอมแรกของที่นี่ นี่คือรูปวันแรกที่เราถ่ายด้วยกัน บางคนที่ไม่ได้ไปต่อ และต้องซ้ำชั้นก็มี แต่สุดท้ายเราก็ยังเจอกัน พูดคุยกันบ้าง เดี๋ยวไว้คราวหน้า จะมาเล่าถึงเพื่อนๆ และกิจกรรมระหว่างเรียนด้วยกันเพิ่มเติม :)
เรื่องนี้ อยากจะเขียนให้จบภายใน 2 ตอน แต่เอาจริงๆ คือยิ่งเขียนตอนนี้ ยิ่งรู้สึกสนุกนะ มันเลยดูยาวเป็นพิเศษ และยาวกว่าปกติพอสมควร แถมยังไม่ได้เล่าเรื่องการเรียน ประสบการณ์ตัวเองแบบเป็นชิ้นเป็นอันเลย แต่ถ้าเขียนแค่ 2 ตอน จบจากนี้ อาจต้องหาเรื่องอะไรในเยอรมันมาเล่าแล้วหละ แต่เขียนไปเขียนมา คาดว่าจะได้ซัก 3 ตอน เอาเป็นว่าต้องรออ่านกันต่อไปนะครับ ขึ้นอยู่กับอารมณ์ผู้เขียนล้วนๆ 😃 😃 😃
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ปล1. สำหรับคนที่ยังไม่รู้ รู้ไว้ใช่ว่า ระบบเกรดของประเทศไทย (ที่เอามาจากอเมริกา) จะใช้ GPA 0 - 4 โดย 4 ดีที่สุด 1 คือผ่านพอดี แต่ของเยอรมันเป็น 5 - 1 โดย 1 ดีที่สุด และ 4 คือผ่านพอดี
ปล2. die Klausur ต่างจาก die Prüfung อย่างไร?
- ถ้าถามในความรู้สึก Klausur จะออกแนวสอบย่อยๆ และเป็นข้อเขียน และ Prüfung จะออกแนวสอบใหญ่ๆ เป็นภาพรวมมากกว่า กว้างๆ คลอบคลุม (เหมือน Klausur เป็นซับเซตของ Prüfung นั่นเอง)
No comments:
Post a Comment