20.4.17

Schritt 12: ที่ซุกหัวนอน ตอนที่ 1 (ข้อมูลเรื่องที่พัก)

กลับมาอีกครั้งแล้ว หลังจากหายไปเกือบเดือน เป้าหมายในเดือนนี้คือ เขียนให้ได้ 2 ตอน เพราะว่าตอนนี้อยู่ในช่วงวันหยุดยาวพอดี ที่ไทยก็จะเป็นสงกรานต์ ที่นี่ก็จะเป็นอีสเตอร์ (ส่วนประวัติไปหาอ่านได้ตาม google ทั่วไปนะ ขี้เกียจเล่า อิอิ) ตอนหน้าคาดว่าจะปล่อยอาทิตย์นี้ต่อกันเลยเนอะ ไม่อยากเขียนแล้วดองเก็บไว้ 555

โอเค พอหอมปากหอมคอ เข้าเรื่องเลยละกัน ก่อนอื่น ก่อนที่จะเล่าประสบการณ์ของตัวเอง ต้องมาอธิบายถึงสิ่งที่ควรรู้เรื่องที่พักก่อนเนอะ เพราะมันมีหลายประเภท แต่ละแบบก็ต่างกันไปอีก ซึ่งมันจำกัดความได้ยาก ที่เขียนในที่นี้ อาจไม่ได้เป๊ะๆ 100% ซึ่งคำว่าไม่เป๊ะ ไม่ใช่เขียนแบบมั่วๆนะ แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป ถูกต้องเป็นสรณะ แต่ก็จะพยายามเขียนให้ครอบคลุมที่สุดนะ :)

- WG (Wohngemeinschaft)
แปลตรงๆตัวก็คือ การอาศัยอยู่ร่วมกัน คาดว่าประเทศไทยก็อาจจะมี แต่มันคิดคำไม่ออก 555 เป็นที่พักที่ไม่ใช่นิยมแค่นักเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงคนทำงาน หรือแม่แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ ที่ไม่ได้มีบ้านของตัวเอง ลงหลักปักฐานอะไร โดยหลักๆเราก็จะมีห้องนอนส่วนตัว (บางที่ห้องนอนก็ต้องแชร์ 2-3 คน ก็มี) และแบ่งกันใช้ห้องครัว ห้องน้ำ ถ้าที่ไหนดีๆ หรือมีพื้นที่หน่อย ก็อาจจะมี ห้องกินข้าว ห้องนั่งเล่นด้วย ส่วนใหญ่ก็จะมีเวรทำความสะอาด แต่ใช่ว่าบางทีมันจะสะอาดนะ ขึ้นอยู่กับนิสัยแต่ละคนด้วยแหละ ถ้าได้เพื่อนบ้านดี ก็จะโชคดีไปอย่าง เหมาะสำหรับคนที่มีนิสัยคล้ายๆกัน ทำให้บางที่ ต้องถึงกับมีการเปิดบ้าน คัดตัวกันเลยทีเดียว (ไม่ได้หากันมาได้ง่ายๆ เห็นมั้ย) บางที่อาจจะมีนัดกิจกรรมร่วมกันทุกอาทิตย์ แล้วแต่กฎประจำบ้านนั้นๆไป แต่ถ้าเป็นบ้านของเจ้าของบ้าน แล้วปล่อยให้เช่า อันนี้ก็จะมีขั้นตอนอีกแบบนึง คือ ขึ้นอยู่กับเจ้าของบ้านเลย (บอกแล้วว่ารายละเอียดยิบย่อยเยอะมากกกก) ส่วนเว็บไซต์ยอดฮิตที่ใช่หา ก็คือ wg-gesucht.de และอื่นๆอีกมากมาย (เรียกว่า เป็นหนึ่งแหล่งทำเงินได้ไม่ยากเลย ไว้ใครมีบ้านในเยอรมัน ลองมาทำดู อาจได้เงินทั้งๆที่นอนอยู่บ้านเฉยๆก็ได้นะ 555)

- Wohnung
มันก็คือห้องพัก แบบอพาร์ตเมนต์ ที่จะมีห้องน้ำ ห้องครัวของตัวเอง (บางที่อาจจะต้องแชร์ห้องน้ำอยู่ดี) แต่เอาง่ายๆก็คือ จะมีความเป็นส่วนตัวมากกว่า WG แน่นอน เรียกได้ว่า พึ่งพาตัวเอง ให้อารมณ์เหมือนอยู่ในห้องคอนโด ต่างคนต่างอยู่ซะมากกว่า ซึ่งการที่จะแลกมาซึ่งความส่วนตัว ก็ต้องยอมจ่ายแพงกว่าเดิม เป็นเรื่องธรรมดา หม้อ กระทะ ช้อน ส้อม ผ้าปูเตียง อาจจะต้องหามาเอง

- Studentenwohnheim
อันนี้คือ หอพักนักเรียน โดยมันก็มีทั้งแบบ WG ที่ในหนึ่งห้องใหญ่ๆ จะถูกแบ่งเป็นห้องนอน ห้องครัว ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น ก็ว่าไป หรือแบบเป็น Wohnung ที่จะเป็นห้องเดี่ยว แล้วแบ่งกันใช้ห้องน้ำ ห้องครัวทั้งชั้น หรือบางทีก็อาจเจอแบบส่วนตัว ไม่ต้องแบ่งใครใช้ก็มีอีก ซึ่งโดยทั่วไปจะมีค่าเช่าถูกสุดสำหรับนักเรียนโดยเฉพาะ เมื่อเทียบกับแบบอื่นๆอะนะ แต่ใช่ว่าจะถูกที่สุดเสมอไป ถ้าเป็นหอที่จัดการโดยมหาลัย อันนี้ถูกแน่นอน ส่วนหอของเอกชน อันนี้ก็มีหลายเลเวลอีก อาจมีแบบห้องกิจกรรม ห้องฟิตเนส ซึ่งเมื่อค่าเช่าถูก demand ก็จะมากตาม โดยใครที่มาเมืองใหญ่ๆ ไม่มีทางที่จะสมัครปุ๊ปได้ปั๊ป ต่อคิวรอกันเป็นปีก็มี แต่ถ้าเมืองเล็กๆหน่อย ก็อาจจะได้ที่พักเลยก็เป็นได้
การสมัครก็มีหลายแบบอีก สุดท้ายยังไงก็ต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเองเนอะ ถ้าเป็นของมหาลัย บางที่ก็อาจต้องใช้ใบสมัครมหาลัย ทำให้สมัครล่วงหน้าไม่ได้ หรือบางที่ ก็สมัครไปล่วงหน้าก่อนเลย ถ้าไม่เอาแล้วค่อยบอกยกเลิกได้ ถ้าสมมติไม่ได้เรียน หรือไม่เอาแล้ว และหอของมหาลัยส่วนใหญ่ก็จะกระจายตามเมือง บางทีก็ไม่สามารถเลือกเจาะจงได้อีก หรือถ้าเป็นของเอกชน อาจจะมีการคัดกรองเพิ่มมาอีกขั้น ขอพวก motivation หรือให้เขียนว่าทำไมถึงอยากอยู่ที่นี่ (จะเขียนแบบว่า ตรูหาที่อยู่ไม่ได้ไง! ก็ไม่ได้ใช่ปะ เค้าก็ไม่รับเนอะ 55)


-คำศัพท์เฉพาะที่ต้องรู้-
Kaltmiete = ค่าเช่าห้อง ไม่รวมน้ำ ไฟ ฮีตเตอร์ (ต้องจ่ายแยก)
Warmmiete = ค่าเช่าที่รวมทุกอย่างแล้ว
Zwischenmiete = การเช่าแบบชั่วคราว อาจเนื่องมาจากเจ้าของห้องไม่อยู่ เลยปล่อยให้คนอื่นมาเช่า
Kaution = ค่ามัดจำ (จะได้คืนเต็มจำนวน ถ้าไม่มีอะไรเสียหายหลักจากย้ายออก)
Nebenkosten = ค่าที่ไม่ใช่ค่าเช่าห้อง เช่น น้ำ ไฟ ฮีตเตอร์
(un-)mobiliert = ห้องที่ตกแต่ง/ไม่ตกแต่ง
Zwek-WG = WG ที่แต่ละคน ต่างคนต่างอยู่ (คล้ายๆแบบ Wohnung แต่ยังต้องแชร์ห้องน้ำ ห้องครัวอยู่)
keine Zwek-WG = ตรงข้ามกับ Zwek-WG คือ อาจต้องมีการทำกิจกรรมร่วมกัน ไปเที่ยว สังสรรค์ ฯลฯ
Studentenverbindung = เหมือนสมาคมนักเรียน ซึ่งมักมีประวัติก่อตั้งยาวนาน โดยปกติจะราคาถูก แต่มักมีจุดประสงค์ มีประเพณีเฉพาะ เช่น เฉพาะคนที่นับถือคริสต์ ไม่แน่ใจว่าเปรียบเทียบได้หรือเปล่า แต่คงให้อารมณ์แบบ บ้านต่างๆใน Harry Potter อะ (โดยส่วนตัวแล้ว ถ้าเจอ WG ประเภทนี้ จะขอบายอย่างเดียว ไม่อยากแนะนำเท่าไหร่)
***อันที่จริงมันมีอีกแหละ แต่ยังคิดไม่ออก ไว้จะมาเพิ่ม ถ้าคิดออก :)***

จบไปแล้ว ส่วนแรก ต่อมา ก็ขอเกริ่นถึงประสบการณ์ตรง หลังจากที่เราได้ที่เรียนเรียบร้อย แบกของมานอนที่โรงแรมใน Karlsruhe ก่อน แล้วช่วงเวลานั้น ก็เร่งหาที่พักทั้งวันทั้งคืน หากถามว่า ทำไมไม่หามาตั้งแต่อยู่ไทยหละ ที่จริงเราก็พยายามแล้วหละ แต่มันมีข้อจำกัดอยู่เยอะมาก อย่างเช่น ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าจะเรียนที่ไหน จะหาที่พักเผื่อทุกเมือง แล้วบอกว่าขอจองไว้ก่อน ก็รับรอง ไม่มีใครรอเราหรอก ได้แต่สมัครหอของมหาลัยไปเผื่อทุกที่ แต่ก็รู้อยู่ดี ว่าห้องมันเต็มแน่นอน แล้วถึงถ้าใครรู้ว่าจะเรียนที่ไหน การได้ที่พักแบบไม่เห็นห้องก่อน ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะทำ (เว้นแต่จะเป็นคนรู้จัก หรือไว้ใจได้จริงๆ) เพราะว่า มิจฉาชีพเยอะมาก ถ้าถามว่ารู้ได้อย่างไรถึงเยอะ คือส่วนตัวที่ได้รับข้อความตอบกลับมานั้น เกินครึ่ง เป็นพวกหลอกลวงเข้าไปแล้ว!! ทำให้ตอนนั้น ยิ่งหายิ่งท้อ ความหวังแบบริบหรี่ เลยต้องทำใจ ยังไงก็มาตายเอาดาบหน้านี่แหละ

!!!! คำแนะนำในการระวังเหล่ามิจฉาชีพ ที่จะแฝงตัวในรูปการปล่อยให้เช่าบ้าน !!!!
คนเหล่านี้ จะพบเจอได้ตาม wg-gesucht (หรืออาจจะเป็นเว็บอื่นๆ) ถึงแม้จะเป็นเว็บไซต์เรียกได้ว่า อันดับต้นๆ ในการหาห้อง เพราะมันมี Angebot เยอะที่สุดแล้ว แต่เพราะระบบมันไม่ได้มีการคัดกรองผู้ปล่อยเช่า หลักสังเกต คือ
- มักจะตอบเร็ว
- ถ้าเห็นว่าเป็นต่างชาติ ก็จะคุยภาษาอังกฤษด้วย
- รายละเอียดห้อง รวมถึงตัวผู้ปล่อยเช่า จะให้มาแบบไม่ค่อยเคลียร์
- ไม่ใส่รูปห้องมาให้
- เจ้าของบ้านไม่อยู่ ไปต่างประเทศบ้าง ติดธุระสำคัญบ้าง เลยดูห้องไม่ได้
- พอส่งรูปมา รูปห้องกับราคาดูไปด้วยกันไม่ได้ (พอเห็นรูปหลายๆห้องจะพอรู้เอง ว่าเมืองนั้น ห้องที่ดีควรมีราคาประมาณไหน)
- อยากให้รีบโอนตังค์ แล้วจะส่งกุญแจตามไป
- ต้องการให้โอนค่าเช่าก่อนล่วงหน้า
แถม สิ่งที่เจอมากับตัวเอง แล้วค่อนข้างฮา คือ ชื่อในหน้าเว็บ กับตอนเขียนเมลล์ ไม่เหมือนกัน หรือ รูปที่ส่งมานั้น กับที่อยู่ที่ส่งมาให้ มอง google map เทียบตึกกับรูปห้องแล้ว มันไม่เหมือนกันแม้แต่นิดเดียว

ถ้าเจอบุคคลเหล่านี้ ง่ายๆคือ เลิกติดต่อกับเขา (ยังไงเขาก็ไม่มาง้อเราอยู่แล้วหละ เหยื่อที่กำลังหาห้องมีเยอะแยะ) จะไปแจ้งตำรวจจับก็ลำบาก เพราะเอาจริงๆ เจ้าตัวอยู่ที่ไหนในโลก ยังไม่รู้เลย (ถ้าไม่สืบหาถึงขั้น IP Address อะนะ) ดังนั้น สิ่งที่ต้องการจะเน้นย้ำ คือ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ห้ามโอนเงิน ให้บุคคลแปลกหน้าเป็นอันขาด เพราะเหตุการณ์แบบนี้ เกิดขึ้นบ่อยมาก รวมไปถึงกับนักเรียนไทยด้วย
และถึงสำหรับใคร ที่ได้ห้องมาทั้งๆที่ยังอยู่ไทยก็จริง การไม่ได้เห็นสภาพห้องก่อน เป็นสิ่งที่ค่นข้างเสี่ยงมาก ก่อนจะเซ็นสัญญาอะไร ต้องอ่านให้รอบคอบ บางทีเซ็นไป บ้านติดสัญญาก็มี พอเจ้าตัวไม่ได้เรียนที่เมืองนั้นแล้ว จะยกเลิกก็ไม่ได้อีก (ถ้าเป็นภาษาเยอรมัน อาจให้พี่ๆที่ DAAD ช่วยแปลก็ได้ พี่ๆเค้าใจดีอยู่แล้ว)

โอเค ขอจบไว้ที่ตรงนี้ก่อนนะ น่าจะครอบคลุมอยู่ และคาดว่าจะซีเรียสกันมาพอสมควรแล้วด้วย จนถึงตอนนี้ หวังว่าจะได้ความรู้อะไรไปบ้าง ไม่มากก็น้อยเนอะ แล้วไว้ตอนหน้า มาต่อตอนที่ 2 จะได้มาเล่าถึงประสบการณ์แบบจริงๆซักที (สำหรับคนที่ต้องการจะรู้ถึงชีวิตของเราอะนะ 555) ตั้งแต่ได้รับเมลล์ตอบกลับ จนถึงเรื่องเอกสารทุกอย่างหลังย้ายเข้าเลย ไม่น่าจะเครียดเหมือนตอนที่ 1 เท่าไหร่ วันนี้ขอตัวก่อน เจอกันใหม่ตอนต่อไปนะขอรับ เร็วๆนี้เลย อิอิ

No comments:

Post a Comment