29.6.17

Schritt 15: เอกสารท่วมหัว ต้องเอาตัวให้รอด!

เรามาอัพเดตบล็อกปิดท้ายเดือนมิถุนายน กับเรื่องของเอกสารกันอีกรอบดีกว่า ในวันนี้มีเรื่องหลักๆ คือ การ activate บัญชี Blocked Account (Deutsche Bank) และเอกสารยิบๆย่อยๆ ที่ควรรู้ เวลามาอยู่เยอรมนี เอาแบบสั้นๆ เนอะ เดี๋ยวจะหลับกันก่อน

ใครที่ยังไม่รู้ว่า Blocked Account คืออะไร เปิดอย่างไร กลับไปอ่านได้ที่หน้านี้เลย >> Schritt 6: เรื่องเงิน เรื่องใหญ่!!
อันนี้ต้องบอกก่อนว่า เราทำที่สาขา Karlsruhe (ก็ตัวอยู่นี่หนิหว่า จะให้ไปทำที่ไหนหละ - -') ซึ่งที่นี้ มีสาขาเดียวในเมือง *อ่อ บอกก่อนว่า ตอนแรกเรากรอกเอกสารไปว่าจะไปเรียน Uni Bonn นะ บัญชีของเราก็ถูกเปิดที่ Bonn แต่สุดท้ายจะ activate ที่ไหนก็ได้ ไม่มีปัญหาอะไร* แล้วก็บอกว่าบางสาขา อาจมีขั้นตอนไม่เหมือนกันเป๊ะๆ แต่ก็ประมาณนี้แหละ

ขั้นแรกก็ไปหาพนักงาน บอกว่าจะมา aktivieren ที่ Karlsruhe เขาจะให้ Termin เราว่ามาได้เมื่อไหร่ น่าจะเป็นเพราะเมืองนี้เด็กต่างชาติเยอะ แต่บางที่ก็ตรงเข้าไปทำได้เลย ลองสอบถามดูนะ :)
ซึ่งพอถึงเวลานัด เราก็ไปถึงตามเวลาา ที่แปลกมากคือ เขาพาเราไปทำพร้อมๆกันกับใครก็ไม่รู้เป็นกลุ่ม แต่ก็อะนะ เขาพาไป เราก็ต้องไป เราก็ต้องกรอกเอกสารอีกนิดๆหน่อยๆ เขาก็เหมือนขอ Pass เราไปก้อปปี้ด้วย และที่แปลกอีกอย่างหนึ่ง เขาไม่ถามถึง Meldebestätigung เลย! จนเราต้องถามเขาว่า ตงลงจะเอาไปก้อปปี้ไหม พนักงานก็เลยเอาไปก้อปปี้ด้วย สรุปคือ งงมากๆ ว่าต้องใช้จริงๆไหม (สำหรับเมืองนี้นะ, เพราะเคยไปลองทำที่ Bonn ตอนนั้นยังไม่มีใบ เขาก็บอกทำให้ไม่ได้) ใช้เวลาไม่นานจริงๆ แล้วก็เสร็จ แล้วก็ถ้าเร่งด่วน น่าจะไปถอนเงินได้เลยนะ แต่ต้องไปกรอกเอกสารกับเจ้าหน้าที่ เพราะเรายังไม่มีบัตร และ PIN

ทีนี้ เอกสารทุกอย่าง จะถูกส่งมาที่บ้านของเรา เน้นว่า กล่องจดหมาย ต้องมีชื่อเรา มิฉะนั้น เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์อาจไม่หย่อนจดหมาย ผลที่ตามมาคือ เอกสารที่ตีกลับนั่นเอง เจอมากับตัวแล้ว!! ค่อนข้างต่างกับที่ไทยพอสมควร ที่ขอให้มีแค่บ้านเลขที่ก็พอ
เอกสารที่ทางธนาคารส่งมา ใช้เวลาเป็นอาทิตย์เลยนะ กว่าจะได้ครบ เพราะอาจเป็นช่วงที่เด็กเปิดเทอมด้วยแหละ คนมาทำเยอะ หลักๆก็ต้องมี บัตร EC-Karte, PIN ที่จะมาแยกกัน และไม่พร้อมกัน (สำหรับบัตรของ Deutsche Bank สามารถเปลี่ยน PIN ได้ที่เครื่องกดเงิน ต่างจากหลายธนาคาร ที่เราเปลี่ยนเองไม่ได้ ได้แบบไหน ต้องใช้อันนั้น), ถ้าเปิดแบบ online Banking ด้วย ก็จะมี รหัสสำหรับเข้า online Banking, TAN เป็นรหัสสำหรับ การโอนเงิน, photoTAN (โหลดแอปในมือถือ แล้วใช้รหัสภาพ แทนรหัสตัวเลขธรรมดา), ...

เพิ่มอีกนิดนึง คือ Deutsche Bank อยู่ในเครือ Cash Group เวลาจะกดตังค์ออกมา ก็ได้เฉพาะธนาคารในเครือนี้ เช่น Post Bank, Commerzbank, ... จึงจะไม่เสียค่าธรรมเนียมนะ :) และที่นี่จะไม่มีสมุดธนาคารเหมือนประเทศไทย ตอนแรกมาก็งงๆ ถ้าให้ง่ายที่สุด ก็สามารถตรวจสอบการฝาก การโอนเงิน ได้จาก online Banking เนี่ยะแหละ หรือไปกดที่ตู้แล้วจะมีให้ปรินท์ Kontoauszug ออกมา

สุดท้าย สำคัญ และหลายคนอาจไม่รู้ ถึงแม้ว่า Blocked Account จาก Deutsche Bank จะไม่ต้องเสียเงินรายเดือน (แถมยังได้ดอกเบี้ยด้วย) เพราะจัดอยู่ในประเภท Das Junge Konto แต่ก็ถึงเฉพาะอายุ 30 ปีเท่านั้นนะ หลังจากนั้น จะมีค่าธรรมเนียม เพราะฉะนั้น ก็อย่าลืมปิดบัญชีกันก่อนด้วยหละ (ที่จริง มีหลายธนาคารเลย ที่ไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น อันนี้ลองไปหาเพิ่มเติมกันดูนะ)

จบไปอย่างเป็นทางการ สำหรับเรื่องเงินๆทองๆ วุ่นวายซะเหลือเกิน ต่อไปนี้ ก็จะขอพูดถึงเอกสาร ที่ตอนแรกเราได้หลักจากลงทำเบียนย้ายเข้า ตอนแรกก็งงๆ ว่ามันคืออะไร เป็นเอกสารที่ทุกคนต้องได้ เมื่อมาอยู่ประเทศเยอรมนี
- Identifikationsnummer ว่าง่ายๆ น่าจะเหมือนเลขที่ของผู้เสียภาษี ซึ่งสำคัญมาก เวลาจะไปสมัครงาน ที่ไหนก็ตาม ถ้าจำไม่ได้ หรือทำให้ ก็สามารถไปขอใหม่ได้ที่เขต

- Schufa ไม่รู้ว่าประเทศไทย มีเหมือนกันรึเปล่า มันเหมือนเป็นองค์กร ที่ตรวจสอบ ความน่าเชื่อถือทางการเงิน เวลาเราจะทำสัญญาอะไร หรือแม้แต่เปิดบัญชี ทำบัตรเครดิต บางทีเค้าก็อาจจะตรวจสอบกับทาง schufa นี่ก่อน เขาส่งจดหมายมาบอก เหมือนว่าให้เรารู้ว่าเขามีข้อมูลเราอยู่ ถ้าสมมติเราประวัติไม่ดี เวลาถูกตรวจสอบ ก็อาจจะไม่สามารถเปิดบัญชีใหม่ได้ อะไรประมาณนี้

- ARD ZDF (Rundfunk­beitrag) บางคนอาจเคยได้ยินมาบ้าง ว่าที่ประเทศเยอรมนี ทุกคน ต้องจ่ายพวกค่าทีวี วิทยุ หรือ broadcast ต่างๆ ตามกฎ Eine Wohnung - Ein Beitrag ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ต่อ WG หนึ่งๆ (ตามความเข้าใจ) แต่ถ้าคุณมีห้องเดี่ยวเป็นของตัวเองเมื่อไหร่ และได้ทำการจดทะเบียนที่อยู่เรียบร้อย นั่นถือว่านับเป็น eine Wohnung โดยปริยาย (แม้จะเป็นแค่ห้องนอน หรือขอแค่เป็นสถานที่ ที่นอนได้ มีที่อยู่แน่นอน อย่างรถบ้านถาวร เขาก็นับหมด) แปลว่า ปกติในWG ต่างคนก็ต่างจ่ายนั่นเอง แต่ถ้าห้องๆนั้น อยู่ด้วยกันกับแฟน(ตัวอย่างนะๆ ไม่ใช่เรื่องจริงของผู้เขียน 555) ก็ให้จ่ายแค่ 1 ครั้ง โดยเขาก็จะส่งเอกสารมาเหมือนกันแหละ แต่เราแค่ต้องเขียนเอกสารตอบไป หรือโทรติดต่อเลยว่าอยู่ด้วยกัน แล้วเขาก็จะยกเว้นให้ ข้อยกเว้นก็เพิ่มเติมก็มีอีกอีก เช่น พวกคนพิการ หูหนวก (ซึ่งพวกเราคงไม่น่าจะมีนะ) โดยการจ่าย ก็เป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากโอนเงิน (ประเทศนี้ น่าจะกลัวเงินสดกันนะ อะไรๆก็โอนนะ 555 ถ้าเป็นประเทศไทย ก็คงไปจ่ายกันแบบเซเว่น อะไรอย่างงี้) ตกอยู่เดือนละ 17,5 ยูโร ซึ่งมันอาจจะฟังดูไม่ค่อย make sense เท่าไหร่ ยิ่งห้องเรา ไม่มีแม้แต่ทีวีเลยก็ตาม แต่กฎของเขาก็ต้องเป็นกฎอะนะ สุดท้ายก็ต้องเก็บตังค์ไว้เผื่อเรื่องอะไรพวกนี้ด้วย เศร้า T T

พยายามจะเค้นแล้วนะ แค่ตอนนี้นึกไม่ออกแล้ว ว่าจะเขียนอะไรเพิ่มดี งั้นขอจบไว้ก่อนแล้วกัน อย่าลืมติดตามตอนต่อไปด้วยนะครับ อีกประมาณ 2 อาทิตย์ เป็นไฮไลต์แน่นอน ขอบคุณที่ติดตามเช่นเคยครับ :)

1 comment:

  1. สวัสดีค่าา ก.ย.นี้เราจะไปแลกเปลี่ยน 1 เทอมที่ Uni Tübingen อยู่พอดี จะรอตามอ่านเรื่องของคุณไว้เป็นความรู้รอบตัวนะคะ ��

    ReplyDelete