27.7.17

Schritt 17: ก้าวแรกในรั้วมหาลัย... ชีวิตใน Studienkolleg (ตอนที่ 2)

ถึงเวลาที่รู้สึกเบื่อๆ ว่างๆ เลยอยากจะมาเขียนต่อซักหน่อย คิดไปคิดมาแล้ว อาจจะได้แบ่งออกเป็น 3 ตอนหละเนอะ ไม่อยากจะอัดทุกอย่างไว้แค่ 2 ตอน เดี๋ยวคนอ่านจะตาลายก่อน (หรือไม่ก็ขี้เกียจรออ่านไปเลย ก็เป็นได้)
ถ้าใครยังไม่ได้อ่านตอนแรก ที่ได้แก้ไขไป หรือแม้กระทั่งพลาดตอนแรกไป สามารถกลับไปอ่านย้อนหลังได้ที่นี่

ช่วง WiSe ของที่นี่จะอยู่ประมาณ ต้นเดือนตุลาคม ถึงกลางๆเดือนมกราคม ระหว่างนี้ ใครที่สอบผ่านและได้ไปต่อ ก็อย่างลืมทำเรื่องโอนเงินให้เรียบร้อย ก่อนกำหนดหละ (เพราะตัวเองก็เกือบลืม 555) และ SoSe จะอยู่ประมาณ ต้นเดือนมีนาคม ถึงปลายๆเดือนมิถุนายน สำหรับเราที่เริ่มจาก WiSe ปกติ ก็จะจบเทอม 2 ในช่วง SoSe จากนั้นก็มีสอบ FSP เรียกว่า เวลาไว้หายใจนี่แทบจะไม่มี แต่กว่าจะไปถึงจุดๆนั้น เราอยากจะมาเล่าประสบการณ์ ของการเรียน ในเทอม 2 ก่อนดีกว่าเนอะ ความยากสำหรับที่นี่ ถ้าเทอมแรกไม่ไหวแล้ว เทอมนี้ อาจจะทำให้เลือดตากระเด็นได้ บรรยากาศการเรียนก็ยังเหมือนเดิม คล้ายๆกับที่ไทย มีครูพูดๆๆ หน้าห้อง เราก็นั่งฟัง จดๆๆ ไม่ค่อยมีใครถามอะไรกันมากมาย ไม่ค่อยให้ความรู้สึกโรงเรียนตามหนังฝรั่งแบบนั้นนะ แต่ทุกคนที่นี่ ค่อนข้างจะมี motivation ในการเรียนมาก ตั้งใจกันเกือบทุกคน มีแบบฝึกหัดอะไรก็ทำกันหมด เรียนได้ว่า ช่วยผลักดันตัวเราได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว

และน่าจะลืมบอกไปเมื่อบทที่แล้วด้วย ว่าที่จริง นอกจากจะมีคาบเรียนปกติ ก็ยังมีคาบติววิชาเลข และฟิสิกส์ วิชาละ 1 ครั้งต่ออาทิตย์ ช่วงหลังพักกินข้าว ติวเตอร์ ก็คือเด็กนักเรียนเก่านั่นแหละ แต่ก็อาจจะมีบางห้อง ที่ได้เป็นครูมาสอน แต่นั่นก็จะเป็นคาบแบบฝึกหัดมากกว่า (ถ้าใครสนใจ ก็สามารถไปติดต่อสมัครเป็นติวเตอร์ได้ ได้ค่าจ้างด้วยแหละ 555) โดยคาบติว เราก็สามารถเข้าร่วม หรือไม่เข้าเลยก็ได้ เพราะไม่ได้เป็นคาบบังคับ อย่างฟิสิกส์นี่ไม่มีเช็คชื่อเลย แต่ครูเลขของห้องเราต้องการให้เช็คชื่อ แต่ก็ไม่มีผลอะไรกับคาบเรียนปกติอยู่ดี แต่เอาจริงๆ ติวเตอร์ก็ไม่ใช่จะเก่งพิสดารอะไรมากมายหรอก ส่วนใหญ่ครูเขาก็จะเตรียมแบบฝึกหัดไว้ให้ก่อนหน้า แล้วก็มีส่งเฉลยให้กับติวเตอร์ แล้วเราก็แค่ไปนั่งฟังเค้าพูดๆๆ บางทีเข้าหรือไม่เข้า ก็แทบจะไม่ได้ต่างกันเลยด้วยซ้ำ ติวเตอร์เราบางคน ขนาดมีคำถาม เขายังงงๆเลย 555 สุดท้ายก็ไปถามครู เคลียร์สุด แต่ก็บอกเอาไว้ ถ้าใครว่างๆ ไม่มีอะไรทำ ก็ไปนั่งฟัง เข้าร่วมก็ได้ เพราะอาจจะได้ทริกเล็กๆกลับมา รวมถึงแนวข้อสอบ ประสบการณ์การเรียนในมหาลัย ฟังหลายๆคนอธิบาย อาจทำให้เราได้มุมมองอะไรใหม่ๆก็ได้นะ

14.7.17

Schritt 16: ก้าวแรกในรั้วมหาลัย... ชีวิตใน Studienkolleg (ตอนที่ 1)

ในที่สุด ก็มาถึงช่วงไฮไลต์ ที่อยากจะเล่ามากที่สุดซักที หลังจากที่ได้เริ่มเขียนมาประมาณ 9 เดือนเศษ หวังว่าจะได้ให้ประโยชน์กับใครหลายๆคนไปบ้างเนอะ เอาจริงๆ มันก็มีบางอันเท่านั้นแหละ ที่มีคนอ่านเยอะ บางอันโพสต์ไปเป็นเดือนแล้ว ยังมีคนอ่านรวมแค่ 10 กว่าๆเอง 555 แต่ก็ไม่เป็นไร ความตั้งใจเรา ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงเนอะ
ซึ่งในวันนี้ ก็ตั้งใจจะมาเขียนเรื่องราว เกี่ยวกับการเรียนใน Studienkolleg อย่างที่หลายๆคน อาจทราบกันมาบ้างแล้ว ว่าเราเรียนอยู่ที่ Studienkolleg am KIT ในเมือง Karlsruhe ตอนแรกที่เคยได้ยิน ก็ไม่มีไอเดียในหัวหรอก ว่ามันจะเป็นยังไง ยากง่ายแค่ไหน แล้วก็เป็นความตั้งใจของเราที่จะเขียนบล็อกนี้ด้วย จึงขอโอกาสมาเล่าให้ฟังละกัน
ส่วนใครที่กำลังจะสอบเข้า แล้วหาแนวข้อสอบอยู่ คลิกที่นี่เลย >> Schritt 9: มาลองฝึกทำข้อสอบกันเถอะ!

ผ่านไปหลายสัปดาห์ หลังจากที่ได้ลงทะเบียน และจ่ายเงินเป็นที่เรียบร้อย ก็มาถึงวันแรกที่รอคอย เป็นวันปฐมนิเทศ เขาก็จะเล่าเรื่องกฎของที่นี่ อย่างเช่น เข้าเรียนให้ตรงเวลา ห้ามเล่นมือถือระหว่างเรียน (กฎทั่วๆไป ที่แม้แต่เด็กไทยและเด็กทั่วโลก ก็ทำไม่ได้ทุกคน 555)
กฎที่ดูสำคัญ แต่ก็ไม่ได้เคร่งครัด เช่น การทำเรื่องเกี่ยวกับ Amt เช่นไปต่อวีซ่า ควรนัดนอกเวลาเรียน (ซึ่งที่จริง ถ้ามีนัดเวลาเรียนก็ไม่เป็นไร) มีการเช็คชื่อเข้าเรียน ถ้าขาด 3 ครั้ง ส่งใบเตือน ถ้าได้ใบเตือน 2 ครั้งแล้ว จะถูกเชิญให้ออก (แต่ก็มียกเว้นแบบป่วย แต่ต้องมีใบรับรองแพทย์) ซึ่งเอาจริงๆ ก็มีครูบางคนนะ ที่ไม่เคยเช็คชื่อด้วยซ้ำ
แต่กฎที่สำคัญก็มี เช่น ต้องมาสอบ Klausur ทุกครั้ง ถ้าไม่มาโดยไม่มีเหตุจำเป็น จะถูกปรับตกทันที โดยไม่มีการสอบย้อนหลัง เว้นแต่จะมีใบรับรองแพทย์ ก็อาจมาขอสอบซ่อมได้

รูปตึกเรียน (ซีกซ้ายเป็น STK ซีกขวาเป็นคณะ Informatik)