7.10.16

Schritt 2: จะเริ่มต้น ก็งงแล้ว...

สวัสดีอีกครั้งนะครับ :)
วันนี้เพิ่งเปิดเรียนวันที่ 2 ยังไม่ได้เริ่มอะไรมาก เลยมีเวลามาเขียนบทต่อไป ตัวเราเองอยากจะค่อยๆเขียนนะ เพราะว่า กลัวเดี๋ยวเขียนจบแล้ว บล็อกมันจะร้างอะสิ! ใครที่อาจกำลังหาข้อมูล หรืออยากรู้อะไรล่วงหน้า แนะนำให้ไปอ่านบล็อก หรือลิงค์ที่แปะไว้ให้ด้านข้างก่อน หรือจะถามมาโดยตรงก็ได้ ยินดีช่วยแน่นอน (ถ้าตัวเองรู้อะนะ 555)

โอเค เกริ่นพอละ มาต่อกันเถอะ... สมมติว่าใครมีความคิดที่ว่า จะเรียนต่อเยอรมันแน่นอน อันดับแรกที่ต้องทำ โดยไม่ต้องถามใครเลยคือ เรียนภาษาใช่ม้าาาา สำหรับใครที่ยังลังเล แนะนำให้ไปหาข้อมูลจากลิงค์ที่แปะให้ดู เพราะจุดประสงค์ของบล็อกนี้คือ เล่าประสบการณ์เนอะ (ประเด็นคือ อธิบายไม่ค่อยเป็นว่าทำไมถึงอยากให้มา 555) ระหว่างนี้ เราก็ควรจะเริ่มเตรียมเอกสาร แล้วก็ดูเมือง ดูมหาลัยว่าอยากจะเรียนที่ไหนไว้ด้วยนะ

ซึ่งบางคนอาจมีเป้าหมายไว้อยู่แล้ว นับเป็นความพยายามที่ดีมาก แต่ก็ต้องหยุดความฝันนั้นไว้ก่อน! เพราะสำหรับนักเรียนไทย (หรือชาติไหนก็ได้ ที่ไม่ได้จบ Abitur หรือหลักสูตรที่เยอรมันยอมรับ) เค้าจะไม่รับเราเค้าเรียนมหาวิทยาลัยแน่นอน เว้นแต่ว่า
1. ต้องเรียนมหาลัยในสาขานั้นๆมาแล้ว 2 ปี จึงสามารถมาเข้าเรียนปี 1 ใหม่ (โดยไม่สามารถโอนเกรดจากไทยได้)
2. ต้องมีใบประกาศ Feststellungsprüfung (FP) จะแปลก็คือ assessment test ที่จะนำเกรดที่ได้ ใช้ยื่นมหาลัยต่อไป

คำถามต่อมาคือ แล้วจะได้ใบประกาศนั้นได้อย่างไรหละ...
1. ขอสอบได้โดยตรงทันที ผ่านทาง Studienkolleg (ซึ่งไม่แนะนำเลย)
2. เรียน Studienkolleg ก่อน 1 ปี เพื่อสอบFP ตอนจบ (แนะนำมากๆๆๆๆ)

จากที่เกริ่นไว้บทที่แล้ว หรือคนที่ได้ยินครั้งแรก อาจได้งงเป็นแน่แท้ว่า Studienkolleg คืออะไร...
พูดง่ายๆ ก็คงเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กต่างชาติ เพื่อที่จะเตรียมตัวสอบ FP และเหมือนเตรียมความพร้อมสู่มหาลัยเยอรมัน
ถ้าถามว่า ทำไมถึงแนะนำ ก็คงเพราะเราจะได้มีเวลาปรับตัว ให้เข้ากับสภาพสังคมที่นี่ ได้รู้ว่าที่นี่เรียนอะไรกันบ้าง ไม่ใช่เรียนมหาลัยปุ๊ป นั่งอึ้งอยู่คนเดียว นอกจากต้องตามเนื้อหาที่ยาก ยังฟังไม่ทันอีก เพราะเค้าไม่ได้มองเราว่าเป็นต่างชาตินะ ไม่มีใครจะมาโอ๋ หรือพูดช้าๆเพื่อคุณแน่นอน
แล้วถ้าจะบอกว่าเสียเวลาตั้งปีนึงแหนะ แล้วอย่างงี้จบป.ตรี เคราไม่ยาวพอดีหรอ? ก็ต้องบอกว่า "ไม่" อีกตามเคย เพราะที่นี่ป.ตรีเรียน 3 ปี สุดท้าย มันก็เหมือนเรียนที่ไทย 4 ปี นั่นแหละ แถมเค้ามีผลสำรวจออกมาด้วยนะ ว่าคนที่สอบFP ทันที โดยไม่ได้เรียน Studienkolleg ก่อน จะเรียนมหาลัยไม่จบเกิน 75% และการสอบ FP ทำได้เพียงแค่ 2ครั้งในชีวิต ถ้าสอบตกอีก คือต้องเก็บกระเป๋าเลยนะ ดังนั้นถ้าคิดว่ายังไม่แน่พอ ไม่แนะนำให้เสี่ยงไปสอบก่อนเลยจริงๆ มาใช้ช่วงเวลาการเป็นนักเรียนให้คุ้มค่าดีกว่า จริงมั้ย???

ทีนี้ก่อนจะขอจบ อยากมาเล่าคร่าวๆ ถึงประเภทของ Studienkolleg (ต่อไปนี้ขอย่อเหลือ STK นะ เข้าใจตรงกัน!)
- STK ของรัฐ(มหาลัย) กับ เอกชน(สถาบัน) ต่างกันหลักๆ คือ เงิน และบางที่ของเอกชนก็ไม่ต้องสอบแข่งด้วย
- STK ที่ขึ้นกับ Universität กับ Fachhochschule (FH) พูดง่ายๆ คือ ถ้าเรียนSTK ที่Uni จะสามารถต่อ FH ได้ // แต่ถ้าเรียนSTK ที่FH จะไม่สามารถต่อUni ได้ (*)

และสำหรับบทต่อไป จะมาพูดถึงภาคต่อของ STK รายละเอียดคอร์ส การสมัคร รวมถึงประสบการณ์การเลือกที่เรียน และหาข้อมูลเกี่ยวกับแต่ละที่ให้ฟังกัน จะลำบากเหมือนที่ว่ามาจริงๆรึปล่าว ห้ามพลาดนะ อิอิ

(*) เสริมนิดนึง Universität  ก็คือ มหาวิทยาลัยนั่นแหละ สอนตั้งแต่ป.ตรี-ป.เอก ปกติ
ส่วน Fachhochschule อารมณ์มันจะคล้ายๆ วิทยาลัยโปลีเทคนิค (ไม่ใช่พวก อาชีวะ นะ) สอนตั้งแต่ป.ตรี-ป.โท และจะเน้นพวกการปฏิบัติ มากกว่าทางด้านวิชาการอย่างUni และไม่สามารถต่อป.เอกได้ (ยกเว้นกรณีพิเศษ)
ถ้าใครมีแผนต่อป.เอก หรือจะเน้นแนวทฤษฎีมากกว่า ก็ต้องUni นะจ้ะ ;)
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ปล1. ทั้งหมดนี้ พูดถึงการเรียนต่อป.ตรี ภาคเยอรมันนะ เพราะภาคอินเตอร์มีน้อยมากๆ แล้วส่วนใหญ่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ต้องจ่ายค่าเทอมแพง และจากที่ได้ยินมา เนื้อหาเข้มข้นไม่เท่ากันด้วย...

ปล2. Topic บทนี้ อาจทางการ หรือน่าเบื่อไปหน่อย ไม่รู้จะหาภาพอะไรมาใส่ เลยมีแต่ตัวหนังสือ หวังว่าคงไม่ปิดหน้าจอไปก่อนนะ 555

No comments:

Post a Comment