22.10.16

Schritt 4: เตรียมพร้อมเพื่อส่งใบสมัคร!!

แมวไม่อยู่ หนูร่างเริง...ครูไม่อยู่ นักเรียนก็ร่าเริง 555 เมื่อวานครูไม่สบาย สรุปแล้วได้เรียนแค่ 2 วิชา ชิวๆ 11โมงกว่าๆก็เลิกละ~ STK ที่นี่ เรียนวันละ 3 คาบเอง มีเวลาเหลือเที่ยวสบายเลย (แอบเห็นตารางเรียนของเพื่อนที่ไทย เรียนอะไรกันทั้งวันทั้งคืน อิจฉากันมั้ย 55) แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ หลังจากหาข้อมูลมานานแสนนาน ไฮไลท์สำคัญเมื่อเราอยู่ประเทศไทย คือการสมัครนั่นเอง!!

เราสมัครไป 3 ที่ อย่างที่ได้เกริ่นไปแล้วจากบทก่อนหน้า นั่นคือ Uni Göttingen, TU Dresden และ KIT วันนี้จะมาเจาะลึกเอกสารการสมัครกัน

1. KIT >> STK KIT
เอกสารที่ต้องใช้ : ใบสมัคร, Transcript, ใบจบม.6, ใบภาษา B1, CV
มาเริ่มกันที่เบสิค ง่ายมากๆ เพียงแค่กรอกรายละเอียดในเว็บนี้ https://movein-uni-karlsruhe.moveonnet.eu/movein/portal/studyportal.php แล้วปริ้นท์ใบสมัครออกมา แปะรูปถ่าย เซ็นชื่อ เตรียมเอกสารอื่นๆ แล้ววางพักไว้

2. Uni Göttingen >> STK Hannover
เอกสารที่ต้องใช้ : ใบสมัคร, Transcript, ใบจบม.6, ใบภาษา B1, (ค่าสมัคร 40 ยูโร)
ใบสมัคร กรอกออนไลน์ได้ที่ www.uni-goettingen.de/en/512011.html ปริ้นท์ใบสมัครออกมา เซ็นชื่อ ทีนี้ค่าสมัคร จ่ายได้ 2แบบ คือโอนเงิน(ซึ่งมีค่าธรรมเนียมธนาคารแน่นอน) กับ หักบัตรเครดิต โดยถ้าหักบัตรเครดิต ต้องปริ้นท์ใบยินยอม? ใบแจ้งความจำนง? (ไม่รู้เรียกอะไร ข้ามมันไป 55) แล้วก็อย่าลืมแนบพร้อมเอกสารอื่นไปด้วย เสร็จแล้วก็วางพักไว้เหมือนเดิม


3. TU Dresden >> STK Leipzig
เอกสารที่ต้องใช้ : ใบสมัคร, Transcript, ใบจบม.6, ใบภาษา B1, CV, Passport, (ค่าสมัคร 75 ยูโร)
อีกหนึ่งตัวอย่าง ที่เราไม่ได้ส่งเอกสารผ่านมหาลัยโดยตรง ซึ่งเราต้องส่งผ่านหน่วยงาน Uni Assist
ซึ่งค่อนข้างจะยุ่งยากหน่อย แต่จะสะดวกมาก ถ้ามหาลัยนั้นต้องสมัครผ่าน Uni Assist (แต่ด้วยความโชคร้ายของเรา 3ที่ ไม่ซ้ำวิธีกันเลย T T)
ก่อนอื่น ต้องสร้างAccount www.uni-assist.de/online จากนั้นเลือกว่าจะสมัครที่ไหน จากนั้นกรอกรายละเอียดอีกที จากนั้นอัพโหลดเอกสารทั้งหมดออนไลน์ แล้วก็ปริ้นท์ใบสมัครออกมา อย่าลืมเซ็นชื่อเหมือนเดิม แล้วก็เรื่องเงิน เรื่องใหญ่ วิธีจ่าย 2วิธี เหมือนกับที่Uni Göttingen ต่างกันที่จำนวนเงิน(อะไรจะแพงปานนี้ น้ำตาจิไหล ToT) ส่วนเอกสารที่อัพโหลดแล้ว ยังต้องส่งตัวสำเนาอีกอยู่ดีนะจ้ะ (เสียตังค์เพิ่ม หึหึหึ)

อ่อ ลืมไป! มาพูดถึงข้อดี-ข้อเสียของ Uni Assist กันก่อนดีกว่า
ที่บอกไปว่า สะดวกสำหรับสมัครหลายมหาลัยที่ต้องผ่านUni Assist ก็เพราะว่า เอกสารส่งไปแค่ชุดเดียวที่สำนักงานเค้าเลย ประหยัดค่าส่งได้ดีงามมาก แถมถ้าจะสมัครใหม่ ก็ไม่ต้องส่งเอกสารซ้ำ เพราะเค้าจะเก็บของเราไว้อยู่ (เหมือนได้ยินว่า 1ปีนะ หรืออาจมากกว่า ยังไงลองหาข้อมูลเพิ่มเติมดู)
เท่านั้นยังไม่พอ โปรโมชั่นสุดพิเศษของเรา สมัครที่แรก 75 ยูโร ที่ต่อไปเพิ่มเพียงแค่ที่ละ 15 ยูโรเท่านั้น!!*
*เฉพาะภาคเรียนเดียวกันนะ ถ้าต่างภาคเรียนก็เริ่มใหม่ที่ 75 ยูโร (เงื่อนไขตัวเล็กๆ เหมือนกับโฆษณา 55)
ส่วนข้อเสีย ขอเน้นตัวใหญ่ๆ คือ รออย่าต่ำ เมื่อเอกสารไปถึง คือ 3สัปดาห์ กว่าจะเริ่มตรวจเอกสารเรา ระหว่างนี้ก็ได้แต่นั่งฝันหวาน ว่าเอกสารเราคงไม่หายนะ 55

คำแนะนำส่วนตัว กับเรื่องการสมัคร:
1. เอกสารของโรงเรียนทั้งหมด ถ้าให้โรงเรียนออกให้เป็นภาษาอังกฤษจะดีมาก เพราะเราจะได้ไม่ต้องเสียค่าแปลหลักพัน (ต้องเป็นที่แปลที่สถานทูตยอมรับนะ แต่ทั้งๆที่คนพวกนี้ เค้าก็ใช้เอกสารฟอร์มเดิม ง่ายจะตาย เก็บซะแพง)

2. ถ้าใครเคยไป DAAD พี่เค้าจะให้เราไปหาใบจากเขตการศึกษามาเพิ่ม ให้ออกเป็นภาษาอังกฤษ ประมาณว่า เราจบม.6 ที่ประเทศไทย และสามารถเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งตัวเราก็ลองไปหา ไปเขต ไปรร. ต่างคนต่างงง บอกให้ไปขอที่นู้นที่นี่ ประเด็นอีกอย่างคือ รร.เราเป็นเอกชนอยู่สังกัดประถมศึกษา เพิ่มความยุ่งยากไปอีก จนสุดท้ายก็ไม่ได้ทำ และไม่ได้ส่งใบนี้ไป แต่ก็สมัครผ่านมาได้ทุกที่ สรุปคือ มีไว้อุ่นใจ ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไรนะ

3. เริ่มไม่สำคัญ แต่บอกไว้ก่อน ที่อยู่สไตล์เยอรมัน เรียงตามนี้ "ถนน บ้านเลขที่ รหัสไปรษณีย์ เมือง" (บางทีมีแต่รหัสไปรษณีย์กับเมืองด้วยซ้ำ) ไม่เหมือนไทย ต้องการ 5 บรรทัดกว่าจะจบ ซึ่งใบสมัครมีช่องเขียนนิดเดียว ถ้าบ้านอยู่ในซอย ให้เขียนติดกับถนนซะ เพราะไม่งั้นจะกลายเป็น 2บ้านเลขที่ (รู้ใช่มั้ย ถนนเยอรมันไม่มีเลขซอยอะ 555) เขต แขวง อำเภอ ใส่ก็ดี ถ้ามีที่ เพราะบุรุษไปรษณีย์ไทยต้องการ ไม่งั้นของอาจส่งช้าเหมือนกับเรา หรืออาจไม่มีวันได้เห็นเลยก็เป็นได้ (อันนี้ก็อาจเว่อร์ไป - -')

4. ถ้าถามว่าเคยสอบเข้ามหาลัยมั้ย พวก GAT PAT ไม่ต้องเขียนไปนะ ทำตัวเหมือนไม่เคยสอบซะ 55

5. ตัวอย่างรูปแบบของ Lebenslauf (CV) http://www.inobis.de/lebenslauf-curriculum-vitae-musterantrag.html สิ่งที่ไม่ควรลืม คือ เพศ เพราะคนเยอรมันไม่รู้หรอกว่าชื่อเรามันชาย หรือ หญิง จริงมั้ย 555 (ซึ่งตัวเองโดนเปลี่ยนเพศให้ประจำ) แล้วก็ต้องเซ็นชื่อกำกับด้วยนะ ส่วนถ้าใครที่เพิ่งจบม.6 อย่างที่รู้ๆกันอยู่ว่าเด็กไทยไม่ค่อยมีแบบฝึกงานหลังเรียนจบ หรือกิจกรรมอะไรแปลกๆ ก็อย่าซีเรียสถ้าเขียนแล้วมันดูโหลงๆนะ :)

ทั้งหมดก็มีเพียงเท่านี้แล จากที่เล่ามาฟังดูง่ายขึ้นมั้ย สัญญาว่าจะเล่าประสบการณ์ ยังไม่ได้เล่าจริงๆจังๆเลย ทบยอดไว้คราวหน้าเหมือนเดิมละกัน 555 ยังไงก็ขอลาไปก่อนสำหรับบทนี้ บทต่อไป จะได้ส่งเอกสารรึยัง ต้องรอติดตามนะครับ :)

No comments:

Post a Comment